logo
image

icon-travel-2 ทริป พม่า ย่างกุ้ง หงสาวดี อินทร์แขวน 3 วัน 2 คืน วันที่ 18-20 พฤศจิกายน 2558

ทริป พม่า ย่างกุ้ง หงสาวดี อินทร์แขวน 3 วัน 2 คืน วันที่ 18-20 พฤศจิกายน 2558

พฤศจิกายน 29, 2019
แชร์ :

สวัสดีค่ะท่านผู้อ่านทุกท่าน เมื่อวันที่ 18-20 พฤศจิกายน 2558 กล้วยได้มีโอกาสไปเป็นหัวหน้าทัวร์ ประเทศพม่ากับโปรแกรม ย่างกุ้ง หงสาวดี พระธาตุอินทร์แขวน 3 วัน 2 คืน โดยสายการบิน MYANMAR AIRWAYS เราใช้เวลาอยู่บนเครื่อง โดยประมาณ 50 นาที ค่ะ (เวลาท้องถิ่นที่พม่าช้ากว่าประเทศไทยครึ่งชั่วโมง)

อาหารบนเครื่องสายการบิน MYANMAR AIRWAYS

เดินทางถึง สนามบินมิงกาลาดง ณ กรุงย่างกุ้ง ผ่านพิธีการตรวจคนเข้าเมืองเป็นที่เรียบร้อยแล้ว จากนั้นก็เดินทางไปยังเมืองหงสาวดี เพื่อที่จะเดินทางไปสู่ พระธาตุอินทร์แขวน จากเมืองหงสาวดีเดินทางโดยรถบัสใช้เวลา 1.30 ชม. ไปยังคิมปูนแคมป์ ซึ่งเป็นจุดเปลี่ยนรถเป็นรถบรรทุกหกล้อ ระหว่างทางท่านจะผ่านแม่น้ำสะโตง มีความสำคัญในประวัติศาสตร์ไทยเมื่อครั้งที่สมเด็จพระนเรศวรมหาราช เสด็จหลบหนีกองทัพพม่าของพระมหาอุปราชมังสามเกียด พระองค์ได้หลบหนีข้ามพ้นมาและได้แสดงวีรกรรมยิงพระแสงปืนข้ามลำน้ำสะโตง คือ ยิงปืนคาบศิลาจากอีกฝั่งของแม่น้ำถูกแม่ทัพพม่าชื่อสุรกรรมา เสียชีวิตคาคอช้าง ต่อไปการเดินทางโดยรถบรรทุกหกล้อขึ้นภูเขา ใช้เวลาเดินทางอีกประมาณ 45 นาที หลังจากนั้นเราจะเดินไปที่โรงแรม MOUNTAIN TOP HOTEL เพื่อเก็บสัมภาระก่อนที่จะเดินเท้าสู่ พระธาตุอินทร์แขวน หลังจากที่ทุกท่านเช็คอิน เก็บสัมภาระเรียบร้อยแล้ว พาลูกค้าทุกท่านเดินทางขึ้นไปสักการะพระธาตุอินทร์แขวน มีความเชื่อกันว่าเกิดมาครั้งหนึ่งต้องหาโอกาสมาสักการะพระธาตุอินทร์แขวนให้ได้สักครั้ง เพื่อเป็นสิริมงคลแก่ชีวิตตนเองนะคะ

ประตูทางเข้าพระธาตุอินทร์แขวน

พระธาตุอินทร์แขวน

วันที่สองของการเดินทาง

เราเดินทางไปยัง เมืองหงสาวดี ใช้เวลาเดินทางประมาณ 1.30 ชั่วโมง เมืองหลวงเก่าแก่ของมอญ และอดีตราชธานีของพระเจ้าบุเรงนองนมัสการพระเจดีย์ชะเวมอร์ดอร์ หรือพระธาตุมุเตา พระเจดีย์ในสมัยเดียวกันกับพระเจดีย์ชเวดากอง เป็นพระเจดีย์คู่บ้านคู่เมืองหงสาวดี เป็นเจดีย์ที่สูงที่สุดในหงสาวดี เป็นสัญลักษณ์แสดงความรุ่งเรืองของกรุงหงสาวดี ภายในบรรจุพระเกศาธาตุของพระพุทธเจ้า เป็นสถานที่ประกอบพิธีศักดิ์สิทธิ์ ก่อนออกศึกของบูรพกษัตริย์ ในสมัยโบราณกาล ไม่ว่าจะเป็นกษัตริย์มอญหรือพม่า รวมทั้งพระเจ้าบุเรงนองด้วย และเมื่อครั้งสมเด็จพระนเรศวรมหาราชและพระนางสุพรรณกัลยา ทรงประทับอยู่หงสาวดี ก็เคยเสด็จมานมัสการพระเจดีย์องค์นี้ นมัสการ ณ จุดอธิษฐานศักดิ์สิทธิ์

พระเจดีย์ชะเวมอร์ดอร์หรือพระธาตุมุเตา

พระเจดีย์ชะเวมอร์ดอร์หรือพระธาตุมุเตา

หลังจากนั้นพาลูกค้าเดินทางสู่ พระราชวังบุเรงนอง หากพูดถึง “บุเรงนอง” แน่นอนว่าไม่มีใครไม่รู้จัก เพราะพระเจ้าบุเรงนอง เป็นกษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่ของพม่า ด้วยวีรกรรมอันยิ่งใหญ่จากวรรณกรรม “ผู้ชนะสิบทิศ” ที่สร้างภาพพจน์สุดเท่ให้กับท่าน สำหรับชาวพม่า พระเจ้าบุเรงนองเป็นวีรกษัตริย์ผู้สร้างคุณอนันต์แห่งแผ่นดิน หงสาวดีให้เจริญมาจนถึงยุคสมัยนี้ พระเจ้าบุเรงนองได้รับสั่งให้สร้างพระราชวังบุเรงนองขึ้น เพื่อเป็นศูนย์กลางทางการปกครอง พระนเรศวรก็เคยประทับที่นี่ในระหว่างที่พระองค์ทรงเป็นองค์ประกัน พระเจ้าบุเรงนองจึงรับสั่งให้สร้างพระราชวังให้ยิ่งใหญ่ โดยกำแพงเมืองชั้นนอกมีประตูถึง 20 ประตู พื้นที่ภายในกำแพงเมืองกว้างใหญ่มาก แม้แต่พระธาตุมุเตายังจัดเป็นส่วนหนึ่งในกำแพงเมืองพระราชวังบุเรงนองแห่งนี้ ภายหลังพระเจ้าบุเรงนองสิ้นพระชนม์ พระเจ้านันทบุเรงจึงขึ้นครองราชย์ ก็ได้ถูกศัตรูยกกองทัพมาตีหงสาวดีจนย่อยยับ เมืองถูกทำลายโดยพวกยะไข่และตองอู จนถึงเวลานี้วันเวลาผ่านไปกว่า 400 ปี สิ่งที่รัฐบาลพม่าทำได้คือ ขุดเอาซากเสาขึ้นมาเก็บ และสร้างพระราชวังเลียนแบบของเดิมทับลงไป ตัวอาคารสร้างใหม่มี 2 ส่วน ส่วนแรกเรียกว่า “กามโบสะตาหริ” หรือ “กัมโพชธานี” เป็นส่วนที่เอาไว้ว่าราชการ และส่วนที่ 2 คือ “บัลลังก์ผึ้ง” เป็นส่วนที่บรรทม แต่ด้วยความที่รัฐบาลพม่าสร้างเลียนแบบจากของจริง ทำให้พระราชวังบุเรงนองที่เป็นสีเหลืองทองนี่ เป็นพระราชวังจำลอง นั้นเอง

พระราชวังบุเรงนอง

หลังจากที่เที่ยวกันเหนื่อยแล้วเรามาเพิ่มเติมกำลังกันต่อที่ ร้าน Bangkok Kitchen Restaurant ซึ่งเป็นร้านอาหาร ไทย

หลังจากทานอาหารไทยเสร็จเรียบร้อยเราเดินทางสู่ที่พักคืนนี้เราพักที่โรงแรม Grand United Hotel

หน้าโรงแรม Grand United Hotel

โรงแรม Grand United Hotel

วันที่สามของโปรแกรมทัวร์ วัดเจดีย์โบตาทาวน์ – เทพทันใจ – เทพกระซิบ

เจดีย์โบตะทาว

ตำนานกล่าวว่า เจดีย์โบตะทาว (Bo Ta Tuang Paya Temple) ริมแม่น้ำย่างกุ้ง เกิดจากเมื่อครั้งตปุสสะและภัลลิกะ นำพระเกศธาตุ 8 เส้น กลับจากอินเดียได้มาขึ้นฝั่งบริเวณที่ตั้งเจดีย์ปัจจุบัน ตอนนั้นพระเจ้าโอกะลัปได้ส่งทหาร 1,000 นายมาเฝ้ารักษาพระเกศธาตุไว้ ต่อมาจึงได้สร้างเจดีย์โบตะทาวไว้เป็นอนุสรณ์และประดิษฐานพระเกศธาตุไว้ 1 เส้น ก่อนจะนำที่เหลือไปไว้ยังเจดีย์ชเวดากอง

นัตโบโบจี

นัตในประเทศพม่าที่รู้จักกันดีสำหรับชาวไทย คือ นัตโบโบจี แห่งวัดโบตะทาว หรือที่ชาวไทยเรียกขานกันว่า “เทพทันใจ” โดยชื่อของท่านมาจากการที่ท่านสามารถดลบันดาลโชคลาภให้กับผู้ที่เดือดร้อนที่เข้ามาขอพรกับท่านได้ผลสำเร็จทันใจนั่นเอง การบูชาเทพทันใจ นิยมใช้มะพร้าว กล้วยนากสีแดง เป็นเครื่องบูชาเพราะเชื่อว่าเป็นผลไม้มงคล และเป็นสัญลักษณ์ของความอุดมสมบูรณ์เจริญงอกงามของชีวิต บางครั้งก็จะประกอบด้วยช่อใบไม้ที่เรียกว่า ใบชัยชนะ และฉัตร ตุงหรือธงกระดาษขนาดเล็ก ซึ่งก็เป็นสัญลักษณ์ของความเป็นมงคลอีกเช่นกัน การอธิษฐานขอพรต่อเทพทันใจ มีเคล็ดลับว่าต้องขอเพียงข้อเดียวเท่านั้น นัยว่าเพื่อพลังกล้าแข็งในการถวายเครื่องเซ่น หลังจากนั้น ให้ถวายธนบัตรเสียบไว้ที่มือของท่าน ซึ่งอยู่ในกิริยายืนชี้นิ้วไปข้างหน้า อยากจะถวายเท่าใดก็แล้วแต่ศรัทธา แต่ต้องให้มีจำนวนธนบัตรมากกว่า 1 ฉบับ หลังจากนั้นก็เข้าไปยืนให้หน้าผากของเราติดกับนิ้วมือของท่าน แล้วจึงตั้งจิตอธิษฐานอีกครั้ง เพียงข้อเดียวเท่านั้น ห้ามเปลี่ยนใจ เสร็จแล้วจึงนำธนบัตรที่เราถวายไว้คืนกลับมา 1 ฉบับ เพื่อเอากลับไปเป็นเงินขวัญถุง ให้มีโชคมีลาภต่อไป นอกจากนี้ ผู้ดูแลศาลยังอาจจะให้เรานำกล้วยสุกที่คนมาถวายไว้ก่อนหน้านั้น เอาไปกินเพื่อเป็นศิริมงคลอีกด้วยนะคะ

เทพกระซิบ

อะมาดอว์เมียะ หรือที่คนไทยรู้จักกันในนาม “เทพกระซิบ” ตามตำนานเล่าว่า นางเป็นธิดาของพญานาค ที่ได้เกิดเลื่อมใสศรัทธาในพระพุทธศาสนาอย่างแรงกล้า รักษาศีลภาวนา ไม่ทานเนื้อสัตว์จนสิ้นชีวิตและกลายเป็นนัต จากนั้นชาวพม่าจึงได้เคารพกราบไหว้กันสืบมา ซึ่งเดิมทีการบูชาเทพกระซิบของชาวพม่าก็เหมือนกับการกราบไหว้บูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั่วไป ไม่ได้มีการกระซิบอธิษฐานกับท่านเลยเหมือนในปัจจุบัน จนกระทั่งนักท่องเที่ยวชาวไทยนั่นเอง เป็นคนเริ่มต้น โดยมีหัวหน้าทัวร์ไทยนำคณะมาไหว้เทพทันใจที่วัดนี้ ได้เห็นผู้คนมุงกันหนาแน่นหน้าศาลของนัตองค์นี้ และได้สังเกตุเห็นป้ายเขียนเป็นภาษาพม่าที่หน้าศาลนัต หัวหน้าคณะทัวร์ชาวไทยจึงถามไกด์ว่า ป้ายเขียนไว้ว่าอย่างไร ซึ่งไกด์ก็ได้อ่านและแปลให้ฟังว่า “ห้ามพูดส่งเสียงดัง” เนื่องจากบริเวณนั้น มักมีแม่ค้ามาร้องเสนอขายชุดเครื่องเซ่นไหว้องค์เทพ ส่งเสียงเอะอะ ทั้งที่เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ วัดจึงติดป้ายเตือนไว้ แต่กลับเป็นว่า หัวหน้าทัวร์ท่านนั้นเข้าใจว่า ถ้าจะไปอธิษฐานขอเทพองค์นี้ห้ามพูดเสียงดัง จึงอธิบายให้คณะคนไทยฟังว่า ถ้าจะอธิษฐานขออะไรกับเทพองค์นี้ต้องกระซิบ แล้วก็เล่าลือกันต่อๆ ไป จนกลายเป็นธรรมเนียมปฏิบัติ ที่ถึงตอนนี้ มีคนได้รับผลอธิษฐานสมปรารถนาแล้วกลับมาแก้บน และบอกต่อกัน จนรายการไหว้องค์เทพกระซิบได้ถูกบรรจุเข้าไปในรายการทัวร์ไทยเกือบทุกบริษัทแล้วก็ว่าได้ ส่วนชาวพม่าเห็นคนไทยทำแล้วดี มีการขอพรแล้วสมปารถนา ก็เลยมีการทำตามแบบอย่างสืบต่อมา

ทัวร์พม่า


บทความที่เกี่ยวข้อง