logo
image

icon-travel-2 พระราชวังโปตาลา วิจิตรสถาน บนหลังคาโลก

พระราชวังโปตาลา วิจิตรสถาน บนหลังคาโลก

มกราคม 28, 2020
แชร์ :

พระราชวังโปตาลา วิจิตรสถาน บนหลังคาโลก

พระราชวังโปตาลา วิจิตรสถาน บนหลังคาโลก

พระราชวังโปตาลาตั้งอยู่ใจกลางเมืองลาซา เขตปกครองตนเองทิเบต โดยคำว่า “โปตาลา” มาจากภาษาอินเดียโบราณ หมายถึง ดินแดนอันศักดิ์สิทธิ์ของพระโพธิสัตว์เจ้าแม่กวนอิม

พระราชวังโปตาลา

พระราชวังแห่งนี้สร้างขึ้นในรัชสมัยพระเจ้าซรอนซันกัมโป กษัตริย์องค์ที่ 32 แห่งราชวงศ์ถู่ฟาน หรือปฐมกษัตริย์แห่งจักรวรรดิทิเบต ครั้งนั้นได้ชื่อ “พระราชวังแดง” ต่อมาราชวงศ์ถู่ฟานล่มสลาย พระราชวังถูกทิ้งร้างจวบจนรัชสมัยองค์ทะไลลามะที่ 5 (ค.ศ.1617-1682) ทรงให้บูรณะเพื่อใช้เป็นสถานที่ ว่าราชการและที่ประทับแล้วเปลี่ยนคำเรียกเป็น “พระราชวังโปตาลา” นับแต่นั้นสถานที่แห่งนี้ก็ได้กลายเป็นศูนย์รวมอำนาจทางการเมือง และศาสนาของทิเบตตลอดมาถึงปัจจุบัน

พระราชวังโปตาลา

องค์ทะไลลามะทรงมีพระบัญชาให้สร้างวังในลักษณะของวังซ้อนวัง พระราชวังวงนอกเรียกว่า “วังขาว” เพราะทาสีขาว สร้างเสร็จเมื่อ ค.ศ.1648 เป็นสถานที่ซึ่งองค์ทะไลลามะใช้ทรงงานดูแลบริหารบ้านเมืองและพระศาสนาเป็นอาคารสูง 7 ชั้น หันหน้าไปยังทิศใต้ พระราชวังชั้นในเรียกว่า “วังแดง” ได้ชื่อตามผนังที่ทาสีแดง วังแดงสร้างภายหลังวังขาวเกือบ 50 ปี แบ่งออกเป็น 6 ชั้น เป็นที่ประดิษฐานองค์สถูปของทะไลลามะ และเป็นสถานที่ประกอบพิธีกรรมทางศาสนา

พระราชวังโปตาลา

พระราชวังโปตาลามีระเบียงที่มีภาพเขียนสีเรียงซับซ้อน มีทั้งบันไดไม้ บันไดหิน มีห้องสวดมนต์ที่ตกแต่งงดงาม มีรูปเคารพเกือบสองแสนองค์ ปัจจุบันเป็นพิพิธภัณฑ์และสถานสักการะ โดยภายในวังขาวตั้งเป็นสำนักงานโรงเรียนศาสนา ส่วนวังแดงเป็นส่วนที่ยังใช้ประกอบพิธีกรรม เป็นศูนย์รวมใจของ โปตาลา นอกจากนี้โดยรอบของพระราชวังโปตาลายังประกอบ ไปด้วย กุฏิพระและห้องหับต่างๆ ทางตะวันออกและตะวันตก ทั้งยังมีเขตเมืองเก่า เทศบาลท้องถิ่น โรงพิมพ์พระคัมภีร์ โรงม้า อุทยาน และสระน้ำหลงหวาง เป็นต้น

พระราชวังโปตาลา

คำเรียกพระราชวังโปตาลา หมายรวมถึงหมู่สถาปัตยกรรมขนาดใหญ่โตโอฬารที่สร้างขึ้นตามลักษณะภูมิประเทศที่เป็นขุนเขากินเนื้อที่กว่า 360,000 ตารางเมตร เป็นอาคาร 13 ชั้น สูง 117 เมตร มีลักษณะเหมือนป้อมปราการแบบทิเบต เป็นการผสมผสานศิลปะทางสถาปัตยกรรมและวัฒนธรรมของทิเบต ฮั่น มองโกเลียและแมนจู อีกทั้งยังส่งอิทธิพลทางวัฒนธรรมหรือสถาปัตยกรรมไปยังประเทศรายรอบ เช่น อินเดีย เนปาล ภูฏาน และจีน

จากสมัยขององค์ทะไลลามะที่ 5 พระราชวังโปตาลามีสถานะเป็นพระราชวังฤดูหนาว และเป็นที่ประกอบกิจกรรมทางการเมืองการปกครอง และศาสนกิจมาโดยตลอด ถือเป็นศูนย์กลางอำนาจ
ทั้งในทางอาณาจักรและศาสนจักรของทิเบต เป็นสัญลักษณ์แห่งชนชาติทิเบตที่สง่างามด้วยรูปลักษณ์ และความศักดิ์สิทธิ์ของพุทธศาสนานิกายลามะ

พระราชวังโปตาลาได้รับการขนานนามว่า “ไข่มุกราตรีบนหลังคาโลก” เลื่องชื่อด้วยหมู่วัง ความอัศจรรย์ ของงานวิศวกรรม การหลอมโลหะ ศิลปะจิตรกรรมและการแกะสลัก รวมเป็นกลุ่มโบราณสถานที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรมเมื่อปี ค.ศ.1994 และมีการขึ้นทะเบียนสิ่งก่อสร้างที่เกี่ยวข้องข้างเคียง ได้แก่ วัดโจคัง หรือวัดต้าเซา (ค.ศ. 2000) และพระราชวังโนร์บูกลิงกา (ค.ศ.2001) โดยทั้งหมดผ่านเกณฑ์การพิจารณา

เป็นตัวแทนของการแสดงผลงานชิ้นเอกที่จัดทำขึ้นด้วยการสร้างสรรค์อันชาญฉลาดของมนุษย์เป็นตัวอย่างอันโดดเด่นของประเภทของสิ่งก่อสร้างอันเป็นตัวแทนของการพัฒนาทางด้านวัฒนธรรม สังคม ศิลปกรรม วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี อุตสาหกรรม ในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ และมีความคิดหรือความเชื่อ ที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับเหตุการณ์ หรือมีความโดดเด่นยิ่งในประวัติศาสตร์

ทัวร์จีน


บทความที่เกี่ยวข้อง