logo
image

icon-travel-2 คนเลี้ยงช้าง บ้านตากลาง จ.สุรินทร์

คนเลี้ยงช้าง บ้านตากลาง จ.สุรินทร์

ธันวาคม 12, 2019
แชร์ :

หากเราพูดถึงจังหวัดสุรินทร์แล้ว เราก็จะนึกถึง ช้าง หรือไม่ก็ ปราสาทหิน อะไรประมาณนั้น ซึ่งหากจะว่ากันตามความจริงแล้วทั้งสองสิ่งที่นี้มันเป็นอะไรที่น่าสนใจสำหรับผมมาก มันจึงเป็นเหตุผลหลักที่ทำให้ผมเลือกที่จะเดินทางไปที่ “เมืองช้าง จังหวัดสุรินทร์” เพื่อเข้าไปใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับคนเลี้ยงช้าง และสถานที่ที่ผมจะไปใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับคนเลี้ยงช้างนั่นก็คือ “หมู่บ้านช้างบ้านตากลาง อำเภอท่าตูม” ครับ เรามาทำความรู้จักกับหมู่บ้านช้างบ้านตากลางกันก่อนดีกว่าครับ

ศูนย์คชศึกษา หรือ หมู่บ้านช้าง บ้านตากลาง เป็นสถานที่นักท่องเที่ยวสามารถเดินชมวิถีความเป็นอยู่ ความผูกพัน ของคนในชุมชนและช้าง รวมทั้งประเพณี และวัฒนธรรมที่น่าชื่นชมอย่างใกล้ชิด ชาวบ้านตากลาง แต่ละครัวเรือนจะมีช้างที่เลี้ยงไว้อาศัยอยู่รวมกัน จนช้างที่พวกตนเลี้ยงไว้เปรียบเสมือนเป็นส่วนหนึ่งในครอบครัวของตน ก่อให้เกิดสายใยความผูกพันที่แน่นเฟ้นขึ้น ระหว่างคนกับช้าง ณ บ้านตากลาง จ. สุรินทร์ ได้ชื่อว่าเป็นหมู่บ้านช้างเลี้ยงใหญ่ที่สุดในโลก ชาวบ้านตากลาง ดั้งเดิมเป็น ชาวส่วย(กูย) หรือ กวย ที่มีความชำนาญในการคล้องช้างป่า ฝึกหัดช้าง และเลี้ยงช้างส่วนมากต้องเดินทางไปคล้องช้างบริเวณชายแดนต่อเขตประเทศกัมพูชาประชาธิปไตย ปัจจุบันสภาวะการเมืองระหว่างประเทศทำให้ชาวบ้านตากลาง ไม่สามารถไปคล้องช้าง เช่นแต่ก่อนได้ แต่ชาวบ้านตากลางยังคงเลี้ยงช้าง และฝึกช้างเพื่อไปร่วมแสดงในงานช้างของจังหวัดทุกปีลักษณะการเลี้ยงช้างของชาวบ้านตากลาง เหมือนการเลี้ยงช้างไว้เป็นเพื่อน นอนร่วมชายคาเดียวกับตน ดังนั้นถ้านักท่องเที่ยวได้ไปที่บ้านตากลาง นอกจากจะได้เห็นสภาพโรงช้างดังกล่าวแล้ว ยังจะได้สัมผัสการดำรงชีวิตของ ชาวส่วย พร้อมทั้งจะได้พบปะพูดคุยกับหมอช้าง ที่มีประสบการณ์ในการคล้องช้างมาแล้วหลายครั้งได้ตลอดเวลา รวมทั้งยังสามารถเดินทางชมจุดบริเวณที่แม่น้ำชี และแม่น้ำมูลไหลมารวมกัน ซึ่งห่างออกไปเพียง 3 กิโลเมตร มีทัศนียภาพที่งดงามน่าพักผ่อนหย่อนใจ และชวนให้ศึกษาในเชิงของธรรมชาติด้วย ศูนย์คชศึกษา หรือ หมู่บ้านช้าง บ้านตากลาง จ.สุรินทร์ เป็นศูนย์รวมของสมาชิกช้างทั้งในบ้านกะโพ ตากลาง และจากหมูบ้านอื่น ๆ ในจังหวัดสุรินทร์มากกว่า 200 ตัว ซึ่งจัดให้เป็นวิถีชีวิตที่อยู่ในพื้นที่เดียวกันของคนกับช้างโดยมีทั้งบ้าน เรือนของชาวบ้านหรือที่เรียกว่าควานช้าง และมีที่อยู่ของช้างอยู่ทั่วบริเวณเป็นวิถีชีวิตที่น่าทึ่งมากๆ ไม่ว่าเราจะเดินไปบริเวณไหนเราก็จะพบเห็นช้างอยู่แทบทุกที่ ซึ่งช้างแต่ละตัวก็เป็นช้างแสนรู้น่ารัก ไม่ดุร้าย และสามารถเข้ากับคนได้ง่าย ช้างบ้านตากลางเป็นช้างบ้านที่เชื่อง นอนร่วมชายคาเรือนเดียวกันกับคน เป็นสิ่งมหัศจรรย์ที่ช้างกับคนอยู่รวมกันได้อย่างมีความสุข

และนี่ก็เป็นข้อมูลคร่าวๆของหมู่ช้างบ้านตากลางที่ผมนำมาฝากครับ ส่วนรายละเอียดอื่นๆ ติดตามอ่านกันในเนื้อเรื่องนะครับ

วันที่ 25 มิถุนายน 2561

เวลา 23:06 น. ผมเดินทางมาถึงสถานีขนส่งหมอชิต ในการเดินทางครั้งนี้ผมเลือกใช้บริการของบริษัทสวัสดีสุรินทร์ครับ สำหรับวันนี้รถทัวร์ที่ผมโดยสารจะออกจากสถานีขนส่งหมอชิตในเวลา 23:45 น. และจะไปถึงที่จังหวัดสุรินทร์ที่เวลาประมาณ 05:30 น. ผมนั่งรอรถทัวร์อยู่สักพักผมก็ขึ้นไปนั่งรอบนรถทัวร์และเตรียมตัวออกเดินทางครับ

เวลา 23:45 น. ได้เวลาออกเดินทางมุ่งหน้าสู่จังหวัดสุรินทร์กันแล้วครับ ผมได้รับข้อมูลมากมายจากน้องที่ทำงานที่เป็นคนจังหวัดสุรินทร์ว่า เมื่อเดินทางถึงสถานีขนส่งจังหวัดสุรินทร์แล้วให้โดยสารรถสองแถวต่อไปยังหมู่บ้านช้างบ้านตากลางได้เลย

การเดินทางครั้งนี้ ผมได้ครับความช่วยเหลือและประสานงานในด้านต่างๆจากครูนิ่ม ไม่ว่าจะเป็นด้านที่พัก อาหารการกิน รวมถึงการทำกิจกรรมในด้านต่างๆ การไปที่หมู่บ้านเลี้ยงช้างบ้านตากลางในครั้งนี้ ผมเพียงได้แต่หวังว่าจะได้ใช้ชีวิตอยู่กับชาวกวยและศึกษาการเลี้ยงช้างของชาวกวย ได้สัมผัสวิถีชาวบ้านที่หาไม่ได้ในเมืองใหญ่

นอนดีกว่าเส้นทางการเดินทางของผมในทริปนี้ยังอีกยาวไกลนัก ซึ่งตามหมายกำหนดการแล้วรถทัวร์จะไปถึงในช่วงเวลาเช้ามืด ทำให้ผมคาดว่าน่าจะทันรถสองแถวที่จะไปบ้านตากลางเที่ยวแรกของวัน เจอกันที่สุรินทร์นะครับ

วันที่ 26 มิถุนายน 2561

เวลา 06:47 น. ผิดคาดครับ รถทัวร์ที่ผมโดยสารมานั้นมาถึงสถานีขนส่งจังหวัดสุรินทร์ช้ากว่าเวลาที่กำหนดไว้ ซึ่งนั่นหมายความว่าผมพลาดรถสองแถวเที่ยวแรกที่จะไปบ้านตากลางเข้าให้แล้ว

แอบเจ็บใจนิดๆ เพราะมันจะทำให้ผมเสียเวลารอรถรอบต่อไปและก็ไม่รู้เลยรถรอบต่อไปจะมาจอดที่ชานชาลาตอนกี่โมงและออกตอนกี่โมง เนื่องการให้บริการรถสองแถวที่นี่ประสบปัญหาขาดทุนและหากวันใดไม่มีผู้โดยสารหรือมีผู้โดยสารน้อยรถสองแถวก็อาจจะงดให้บริการ อีกอย่างหนึ่งคือวันที่ผมไปเป็นวันธรรมดาด้วยมันเลยทำให้การเดินทางไปที่นั่นของผมด้วยรถสองแถวมันกลายเป็นเรื่องยากไปเลยทันที ผมจึงจัดการทำธุระอย่างอื่นก่อนแล้วค่อยมาหาวิธีการเดินทางกันต่อ เพื่อไม่ให้เป็นการเสียเวลาผมเลยไปหาเช่าห้องน้ำเพื่อทำการอาบน้ำ ล้างหน้า แปรงฟัน

หลังจากทำภารกิจส่วนตัวเสร็จ ผมก็เดินมานั่งรอรถสองแถวเพื่อเดินทางไปหมู่บ้านเลี้ยงช้างบ้านตากลางต่ออย่างใจจดใจจ่อ แต่ก็ยังไร้วี่แววที่รถสองจะมาเทียบท่าที่ชานชาลา รอไปรอมาห้องก็ร้องเรียกหาของกินเพื่อเติมพลัง ผมจึงเดินไปหาของกินเพื่อประทังความหิวและก็มาจดๆ จ้องๆ อยู่ที่ร้านหมูปิ้ง

จัดไปเบาๆ 3 ไม้ พอให้หนังท้องตึงๆ พลางผมก็ถามถึงรถสองแถวที่จะมุ่งหน้าไปหมู่บ้านเลี้ยงช้าง และทุกคนล้วนพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าคงอีกนานกว่ารถจะมาหรืออาจจะไม่มาเลยก็เป็นได้ ดังนั้นเพื่อไม่เป็นการเสียเวลาการเดินทาง ผมจึง Search หาร้านเช่ารถที่จังหวัดสุรินทร์ โทรไปอยู่หลายที่จนสุดท้ายผมก็หาเช่ารถมอเตอร์ไซค์จนได้ ผมเช่ารถมอเตอร์ไซค์ได้ที่ร้านมารวย (โทร 098-1081942) สนนราคาค่าเช่าวันละ 300 บาท/วัน ค่ามัดจำรถ 2,000 บาท รูปแบบการเดินทางเดิมๆที่ผมคุ้นเคย คงต้องแว๊นด์อีกแล้วซินะเรา

ทริปนี้ผมใช้ Yamaha Mio 135cc ในการเดินทางครับ

เวลา 08:35 น. ผมออกเดินทางมุ่งหน้าสู่หมู่บ้านเลี้ยงช้างที่ บ้านตากลาง อำเภอท่าตูม ซึ่งระยะทางอยู่ที่ 65 กิโลเมตร โดยประมาณ ผมขี่ไปเรื่อยๆ ตรงไหนที่ไม่แน่ใจผมก็ต้องจอดสอบถามชาวบ้านตามข้างทางอยู่เป็นระยะๆ

ระหว่างทางผมเห็นวิวตรงไหนสวย บรรยากาศได้ผมก็จอดรถแวะถ่ายภาพเก็บไว้เป็นความประทับใจ สองข้างทางที่ผมขี่รถมอเตอร์ไซค์นั้นเต็มไปด้วยต้นข้าวที่เขียวขจีมองแล้วรู้สึกสบายตา อากาศก็ไม่ร้อน มันช่างเป็นอะไรที่ผมมีความสุขมากกับการเดินทางครั้งนี้

ขี่รถมอเตอร์ไซค์มาสักระยะหนึ่งผมแวะเติมน้ำมัน เพราะผมไม่รู้เลยว่าหนทางข้างหน้าจะมีปั้มน้ำมันให้ผมได้แวะเติมหรือเปล่า

จัดไปเต็มถังครับ จากปั้มน้ำมันที่ผมแวะเติมน้ำมันนั้นระยะทางก็อีกไม่ไกลก็จะถึงหมู่บ้านเลี้ยงช้างบ้านตากลางแล้วครับ

เวลา 09:38 น. ผมใช้เวลาในการขี่มอเตอร์ไซค์ประมาณ 1 ชั่วโมงเศษ ผมก็เดินทางมาถึงที่ ศูนย์คชศึกษา หมู่บ้านเลี้ยงช้าง บ้านตากลาง กันแล้วครับ จากนั้นผมก็ได้โทรหาครูนิ่มเพื่อสอบถามว่าคืนนี้ผมจะเข้าพักที่ไหน ?

หลังจากผมได้วางสายจากครูนิ่มแล้ว ผมก็เห็นมีพวกพี่ๆ ชาวบ้านเดินตรงมาหาผม พร้อมกับกล่าวคำต้อนรับที่ผมได้มาเที่ยวที่นี่ครับ

การต้อนรับที่เป็นกันเองและแสนอบอุ่นสิ่งนี้นั่นแหละครับที่ทำให้ผมรู้สึกประทับใจตั้งแต่แรกที่ได้เข้ามาเที่ยวที่นี่ พี่ๆในภาพนี้แต่ละคนมีชื่อว่า พี่พร(คนซ้ายสุด) , พี่สีรา , ตัวผมเอง , เด็กผู้หญิง(จำไม่ได้) , พี่จุ๋น(ผู้หญิง) , พี่ยัน แต่ในการเล่าเรื่องผมขอแทนด้วยคำว่า “พวกพี่ๆ” นะครับ

จากนี้ไปพวกพี่ๆ เขาทั้งหมดนี้จะทำหน้าที่เป็นตัวแทนชาวบ้านพาผมเที่ยว ทำกิจกรรม ต่างๆที่อยู่ในหมู่บ้าน รวมถึงให้ความรู้เกี่ยวกับช้างและการเลี้ยงช้างของชาวกวย แค่พวกพี่เขาเกริ่นหัวเรื่องก็ทำให้ผมเกิดความสนใจเป็นอย่างมากแล้วครับ

ในตอนที่ผมเดินทางมาถึงที่หมู่บ้านเลี้ยงช้าง บ้านตากลาง นั้นเป็นช่วงเวลาที่กำลังจะมีการแสดงความสามารถของช้างอยู่พอดี พวกพี่ๆ จึงนำพาไปยังลานแสดงช้าง

สำหรับการแสดงความสามารถของช้างที่ศูนย์คชศึกษา บ้านตากลาง เปิดการแสดงในทุกๆวัน วันละ 2 รอบ คือรอบแรกเวลา 10:00 น. และรอบที่สองเวลา 14:00 น. ส่วนบัตรค่าผ่านประตูสำหรับคนไทยอยู่ที่คนละ 50 บาท เด็กคนละ 20 บาทและชาวต่างชาติอยู่ที่ 100 บาท เด็กคนละ 50 บาท ครับ ถือว่าราคาไม่แพงเลยครับถ้าเทียบกับความสามารถของช้างที่เราได้เห็นครับ

ทุกครั้งที่จบการแสดงในแต่ละรอบ เหล่าบรรดาควานช้างก็จะนำช้างเข้ามาใกล้ผู้ชมเพื่อถ่ายรูปและให้ผู้ชมซื้ออาหารให้ช้างกิน

ให้กินเท่าไหร่ก็ไม่รู้จักอิ่ม ฮ่าๆ แต่เจ้าช้างก็ตอบแทนผมด้วยการถ่ายรูปคู่กับผม

มันเป็นอะไรที่สุดยอดมากเลยครับ ผมมีความสุข สนุก และเพลิดเพลินกับการแสดงของช้างมากครับ

พอผมชมการแสดงช้างเสร็จแล้วพวกพี่ๆ ก็พาผมไปยังพิพิธภัณฑ์ช้างกันต่อครับ

ที่นี่พวกพี่ๆ เล่าให้ประวัติความเป็นมาเกี่ยวกับการคล้องช้างของพี่น้องชาวกวย ขั้นตอนการทำอุปกรณ์ต่างๆเกี่ยวกับการคล้องช้างและวิวัฒนาการของช้างตั้งแต่ยุคดึกดำบรรพ์จนถึงปัจจุบัน สิ่งที่ผมได้รู้ ได้ยิน ได้เห็น ได้ฟัง มันทำให้ผมรู้อะไรเกี่ยวกับช้างและคนเลี้ยงช้างมากขึ้น รวมถึงทำให้เข้าใจเลยว่าชาวกวยรักช้างมากแค่ไหน ?

จากนั้นพวกพี่ๆ ก็พาผมไปไหว้ศาลปะกำ ที่อยู่ด้านหน้าศูนย์คชศึกษากันต่อครับ

ศาลปะกำเป็นจุดศูย์กลางในการทำพิธีกรรมต่างๆ ของพี่น้องชาวกวย เป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของพี่น้องชาวกวย เปรียบเสมือนวัดในยุคปัจจุบันนี่แหละครับ

เชือกปะกำ คือ เชือกที่ใช้สำหรับการคล้องช้างป่าเอามาเป็นช้างบ้าน เชือกปะกำทำมาจากหนังควาย เชือก 1 เส้นทำมาจากควาย 1 ตัวแต่การทำเชือกปะกำในการคล้องช้างต้องใช้เชือกทั้งหมด 3 เส้นนั่นหมายความว่าต้องใช้ควาย 3 ตัวและจะต้องเป็นควายตัวผู้ 2 ตัวและตัวเมีย 1 ตัว เชือกปะกำที่ทำเสร็จแล้วจะต้องผ่านการทำพิธีกรรมจากหมอช้างก่อนถึงจะนำไปใช้ได้

ในอดีตทุกๆครั้งที่มีการออกไปคล้องช้าง ก่อนเข้าป่าไปคล้องช้าง หมอช้างก็จะมารวมตัวกันที่นี่เพื่อทำพิธีกรรมกันที่ศาลปะกำก่อนออกเดินทาง และตรงศาลาที่อยู่ข้างๆศาลปะกำ ผมเห็นมีกลุ่มผู้สูงอายุนั่งคุยกันอยู่ 4-5 คน ซึ่งผู้สูงอายุเหล่านั้นคือหมอช้างนั่นเองครับ

พวกคุณลุง คุณตา เหล่านี้เป็นหมอช้างรุ่นสุดท้ายของพี่น้องชาวกวยแล้วครับ จากประวัติคนที่จะเป็นหมอช้างจริงๆก็ต้องมีประสบการณ์เคยออกไปคล้องช้างในป่า ซึ่งปัจจุบันไม่สามารถออกไปคล้องช้างได้แล้ว แต่พวกพี่ๆในชุมชนบ้านตากลางก็มีคนสืบทอดการทำพิธีกรรมต่างๆ จากหมอช้างรุ่นอดีตให้ยังคงอยู่เพียงแต่ออกไปคล้องช้างไม่ได้แล้วครับ เวลาผ่านไปอย่างรวดเร็ว อากาศเหมือนฝนจะตก พวกพี่ๆ จึงพาผมไปกินข้าวและเข้าพักที่โฮมสเตย์ตามลำดับครับ

เวลา 12:15 น. ถึงร้านข้าวที่ตั้งอยู่หน้าศูนย์คชศึกษาแล้วครับ กางเมนูอาหารออกแล้วสั่งซิครับ

จัดไปข้าวผัดหมู 1 จาน ระหว่างที่ผมนั่งกินข้าวอยู่นั้นฝนได้ตกลงมาอย่างหนัก นั่นหมายความว่ากิจกรรมที่เหลือในวันนี้อาจจะต้องยกยอดไปก่อนครับ ชาวบ้านที่นั่นต่างดีใจที่ฝนตกลงมาเนื่องจากฝนไม่ตกนานแล้ว แต่ผมเองแอบเซ็งเล็กๆ ที่อาจจะพลาดการทำกิจกรรมที่เหลือทั้งหมดของวันนี้ ผมนั่งรอจนฝนหยุดตกจากนั้นก็เดินทางต่อไปยังโฮมสเตย์ที่ผมจะพักค้างแรมในคืนนี้ครับ

เวลา 13:24 น. สำหรับโฮมสเตย์ที่ผมจะพักในคืนนี้เป็นบ้านของพ่อทาและแม่อร

พอถึงแล้วก็สวัสดีทักทายตามมารยาทของคนไทย

จากนั้นแม่อร(คนในภาพ) ก็พาผมไปยังห้องพักที่อยู่ด้านล่าง สำหรับตอนนี้ผมขอตัวนำสัมภาระ ข้าวของเครื่องใช้ของผมไปเก็บในห้องก่อนนะครับ เสร็จแล้วเดี๋ยวจะพาออกไปดูช้างที่พ่อทาและแม่อรเลี้ยงไว้หลังบ้านกันครับ

ถึงตอนนี้ฝนที่ตกลงมาก็ยังไม่หยุดเพียงแต่ตกไม่หนักเหมือนตอนแรกที่ผมอยู่ที่ร้านข้าว ในเมื่อฝนไม่หยุดผมก็ไม่รอ ผมเดินออกไปหลังบ้านเพื่อเดินไปหาช้างที่อยู่หลังบ้านครับ

ได้เจอกันแล้ว ตัวโตน่ารักเชียว มันหันมามองที่ผมประหนึ่งกำลังให้การต้อนรับการมาที่นี่ของผม

พ่อทาก็ตามมาดูแลผมด้วยครับ เพราะช้างไม่คุ้นเคยกับผมอาจจะทำอันตรายได้ ซึ่งตรงนี้ผมเข้าใจได้ครับ พ่อทาบอกว่าช้างตัวนี้เป็นช้างตัวเมียกรือว่า “ช้างพัง” ชื่อว่า “เจ้าพังดุกดิ๊ก” อายุ 18 ปีย่างเข้าสู่ 19 ปีและที่สำคัญที่สุดคือตอนนี้เจ้าพังดุ๊กดิ๊กกำลังตั้งครรภ์อยู่ อายุครรภ์ก็ใกล้คลอดเต็มที่ละ

พอผมกับเจ้าพังดุกดิ๊กเริ่มคุ้นชินกันมันก็ส่งสัญญาณโดยการเอางวงเคาะกับเสาให้ผมไปนำอ้อยมาให้มันกิน พอหมดก็เคาะอีก ผมกับพ่อทายืนคุยกันอยู่สักพัก ฝนก็ยังไม่หยุดตก กิจกรรมต่างของวันนี้จึงน่าจะถูกยกเลิกหรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับฝนว่าจะหยุดตอนไหน หรือถ้าไม่หยุดก็ต้องยกยอดไปเป็นพรุ่งนี้ครับ

ในเมื่อฝนไม่หยุด ผมก็ขอหยุดพักผ่อนก่อนนะครับ เจอกันอีกทีตอนผมตื่นนะครับ

เวลา 16:20 น. ตื่นแล้วครับ ฝนหยุดตกแต่เวลาก็เย็นมาแล้วดังนั้นจึงสรุปได้ว่ากิจกรรมทั้งหมดของวันนี้ถูกยกเลิกครับ ผมจึงโทรหาครูนิ่มเพื่อนัดเจอกันในช่วงเย็น เรานัดเจอกันที่บ้านพ่อทาและแม่อรที่ผมพักนี่แหละครับ แต่ก่อนที่ครูนิ่มจะมา ผมก็ขี่มอเตอร์ไซค์ลัดเลาะเที่ยวชมรอบๆ หมู่บ้านก่อนครับและสายตาผมก็ไปสะดุดอยู่ที่ช้างตัวหนึ่งที่ผูกอยู่ในวัด

งายาวเชียว ซึ่งผมมารู้ทีหลังจากพระที่อยู่ในวัดว่าช้างเชือกนี้อยู่ในช่วงกำลังตกมัน

ผมขออธิบายและทำความเข้าใจกับอาการ “ตกมัน” ของช้างก่อนนะครับ “การตกมัน” ส่วนใหญ่แล้วจะเกิดขึ้นกับช้างพลาย(ตัวผู้) อาจจะเกิดขึ้นบ้างกับช้างพัง(ตัวเมีย) ซึ่งอาการตกมันมันคืออาการที่จะมีน้ำมันไหลออกมาจากในตัวของช้างบริเวณศีรษะ(ตามความเข้าใจเหมือนผู้หญิงเป็นประจำเดือน) บางตัวเป็นเยอะก็จะมีน้ำมันไหลออกมาจากตา หู การตกมันจะช่วงฤดูของช้างแต่ละตัว บางตัวเป็นแค่ระยะสั้น บางตัวก็เป็นนาน พอตกมันช้างจะหงุดหงิดและจะจำอะไรไม่ได้ จะหายจากอาการตกมันก็ต่อเมื่อน้ำมันไหลออกมาจนหมด ตามที่ผมเข้าใจนะครับซึ่งมันก็สอดคล้องกับที่ควานช้างบอกกับผมนั่นแหละครับ

เวลาก็เย็นมากแล้วผมเลยตัดสินใจขี่มอเตอร์ไซค์กลับเข้าบ้านพักเพื่อไปนั่งรอครูนิ่ม จนในที่สุดครูนิ่มก็ขี่รถมอเตอร์ไซค์มาถึงบ้านพักที่ผมพักอยู่ นั่งคุยกันอย่างสนุกสนาน จากนั้นครูนิ่มก็ชวนผมขี่รถมอเตอร์ไซค์ออกไปเที่ยวชมข้างนอกอีกครั้งซึ่งอยู่ด้านหลังศูนย์คชศึกษาซึ่งในอนาคตอันใกล้นี่จะมีการก่อสร้างเป็นสวนสัตว์ ระหว่างทางที่ผมขี่รถผ่านนั้น ผมได้เห็นช้างมากมายตามสองข้างทาง

เมื่อครูนิ่มเห็นผมให้ความสนใจกับช้างมากและตื่นตาตื่นใจในการเห็นช้าง ครูนิ่มจึงพาผมไปดูช้างที่เป็นดาราที่นี่

นี่ไงครับ เป็นช้างพลาย ชื่อ “ศรีทัพไท” เป็นช้างที่มีงานแสดงเยอะมากที่สุดเชือกหนึ่งเลยครับ อายุก็ปาเข้าไป 45-50 ปีแล้ว และช่วงที่ผมไปนั่น “เจ้าช้างศรีทัพไท” อยู่ในช่วงตกมันพอดีผมจึงได้แค่ยืนถ่ายรูปอยู่ห่างๆ อย่างห่วงๆ ครับ

จากนั้นผมและครูนิ่มก็ขี่รถออกเดินทางไปยังอีกที่หนึ่งซึ่งเป็นที่พักของช้างพลาย “ทองใบ

ช้างพลายทองใบ เป็นช้างที่มีงายาวมากและเป็นช้างที่ออกงานบ่อยตัวหนึ่งเช่นกันครับ ที่เห็นเขียนลายตามใบหน้าและงวงก็เพราะว่าเพิ่งกลับมาจากการไปออกงานมาครับ

การออกงานของช้างแต่ละเชือกก็ขึ้นอยู่กับระยะทางใกล้ ไกล ก็แล้วแต่จะตกลงกันครับ

พอเสร็จสิ้นจากการขี่รถมอเตอร์ไซค์เที่ยวรอบหมู่บ้านแล้ว ผมก็ขี่รถมอเตอร์ไซค์ต่อไปยังบ้านครูนิ่ม ที่อยู่ซอยตรงกันข้ามบ้านพักของผม

ครูนิ่มบอกว่าที่บ้านก็มีช้างเหมือนกันแต่ตอนนี้ไปอยู่ที่พัทยาแล้ว เหลือแต่ช้างลุงกับป้าที่อยู่ด้านหลังบ้านครับ

นี่ไงละครับ ช้างของลุงกับป้าของครูนิ่มครับ เรานั่งสนทนาก็อยู่สักครู่หนึ่งเพื่อนัดแนะเวลาสำหรับการทำกิจกรรมในวันพรุ่งนี้(วันนี้ถูกยกเลิก)

จากนั้นผมจึงขอตัวแยกย้ายกลับบ้านเพื่อไปกินข้าวเย็นและพักผ่อนตามลำดับครับ

เวลา 19:05 น. ผมกลับมาถึงที่บ้านแล้วก็เตรียมจานชามสำหรับกินข้าวเย็นซึ่งตอนนั้นพ่อทากับแม่อรกินกันเรียบร้อยแล้ว

นั่งกินข้าวไปก็ฟังพ่อทาเล่าเรื่องต่างๆให้ฟังมากมาย ไม่ว่าจะเป็นประสบการณ์การใช้ชีวิตอยู่กับช้าง การเดินทางออกไปขายอ้อย ขายของ ตามต่างจังหวัด ในสมัยวัยรุ่น เมื่อผมได้รับฟังทำให้ผมได้รู้ซึ้งถึงความลำบากเลยครับ แต่พอพวกชาวบ้านรวมกลุ่มกันทำโฮมสเตย์มันก็ดีกว่าที่จะพาช้างออกไปเร่รอนตามท้องถนน ซึ่งอันนี้ผมก็เห็นด้วยครับและขอเป็นแรงสนับสนุนอีกหนึ่งแรงครับ

นั่งคุยกันไปดูโทรทัศน์ไปเค้าเสียงหัวเราะพาให้บรรยากาศในการสนทนาสนุกสนานมากขึ้น เรานั่งคุยกันสักพักแม่อรก็ขอตัวไปอาบน้ำเพื่อเตรียมตัวเข้านอนแล้วครับ ส่วนผมก็ขอตัวไปกางมุ้งก่อนดีกว่าเดี๋ยวยุงจะเยอะ

นานแค่ไหนแล้วที่ผมไม่ได้นอนกางมุ้งแบบนี้ ฝนตกพรำๆ นอนกางมุ้งมันช่างเป็นบรรยากาศที่แสนดีสำหรับผมมาก หลังจากที่ผมกางมุ้งเสร็จแล้วผมก็ทำการอาบน้ำและเตรียมตัวเข้านอน

เวลา 21:30 น. อาบน้ำเสร็จแวะเปิดโทรทัศน์ดูฟุตบอลโลก 2018 สักแป๊บหนึ่ง แต่ก็ดูได้แค่ครึ่งเดียวเท่านั้นผมก็ฝืนอาการง่วงนอนไว้ไม่ไหว งั้นผมขอตัวเข้านอนก่อนนะครับ เจอกันพรุ่งนี้เช้าครับ Good Night

วันที่ 27 มิถุนายน 2561

เวลา 05:45 น. ผมตื่นมาพร้อมกับความสดชื่น พอตื่นก็รีบดิ่งไปหาเจ้าพังดุกดิ๊กก่อนเลย จากนั้นก็แวะไปทักทายพ่อทากับแม่อรที่กำลังนั่งทำกับข้าวอยู่ในครัว สำหรับเช้าวันนี้เป็นวันพระ แม่อรได้ทำการจัดเตรียมสำรับปิ่นโตเพื่อให้ผมไปทำบุญที่วัด

นานมากแล้วที่ผมไม่เคยเข้าวัดทำบุญ เพราะด้วยความเชื่อส่วนตัวของผมที่ว่าทำบุญทำที่ไหนก็ได้เลยไม่ค่อยสนใจได้เข้าวัดสักเท่าไหร่ แต่นี่สำหรับผมถือว่าเป็นโอกาสพิเศษจึงยากที่จะปฏิเสธ ไปอาบน้ำ ล้างหน้า แปรงฟัน ก่อนดีกว่าจะได้ไปทำบุญกัน

เวลา 06:45 น. ต้องรีบแล้วเพราะวัดตามต่างจังหวัดเขาทำบุญกันแต่เช้า เดี๋ยวก่อนเข้าวัดแวะซื้อกับข้าวถุงเพิ่มเพื่อไปตักบาตรอีกสักนิดหน่อยครับ

ร้านค้าก็อยู่หน้าวัดนี่แหละครับ เข้าวัดกันดีกว่าครับเดี๋ยวจะไปไม่ทันพระสวด

ชาวบ้านเข้ามาทำบุญกันที่วัดหนาตาพอสมควรครับ ผมขอเวลานั่งฟังพระสวดก่อนนะครับ เดี๋ยวเสร็จจากการทำบุญในตอนเช้า ผมก็จะไปทำกิจกรรมอื่นๆของวันนี้ต่อครับ

เวลา 07:35 น. ทำบุญเสร็จแล้วครับ เรามาเริ่มทำกิจกรรมของวันนี้กันเลยดีกว่าครับ แต่ก่อนจะทำกิจกรรมผมต้องช่วยพ่อทาและแม่อรทำกับข้าวก่อนครับ เติมพลังตอนเช้าเดี๋ยวจะไม่มีเเรง

แม่อรก่อไฟเตรียมย่างปลาทู ผมก็เตรียมกระทะเพื่อจะทำการเจียวไข่ใส่ชะอม

ที่นี่ใช้เตาถ่านทอดไข่ไฟไม่ค่อยแรงเท่าไหร่ต้องใช้เวลาในการทอดไข่สักนิดหนึ่งครับ เวลาผ่านไปไม่นานกับข้าวสำหรับเช้านี้ก็เสร็จเรียบร้อยพร้อมกินกันแล้วครับ

สำหรับกับข้าวเช้าวันนี้ประกอบไปด้วย ไข่เจียวชะอม น้ำพริก(พริกจริงๆ) ปลาทูย่าง เป็นกับข้าวง่ายๆ แต่เต็มไปด้วยความสุขยิ่งนัก

หลังจากที่ผมกินข้าวเช้าเสร็จแล้ว ผมก็ไปเปลี่ยนเสื้อผ้า เตรียมข้าวของที่จำเป็น เพื่อไปทำกิจกรรมของวันนี้ครับ

สำหรับกิจกรรมในวันนี้มีดังนี้ครับ

  • พาช้างไปอาบน้ำที่แม่น้ำมูล
  • ดูวิธีการทำตะขอบังคับช้าง
  • ดูการทำแหวนด้วยขนหางช้างและการทำเชือกปะกำ
  • สุสานช้าง
  • การทำกระดาษจากขี้ช้าง
  • การทอผ้าไหมของชาวกวย

เป็นยังไงบ้างครับสำหรับกิจกรรมของผมในวันนี้ ที่กิจกรรมมันอัดแน่นขนาดนี้ก็เพราว่าเมื่อวานฝนตกเลยต้องยกยอดมาเป็นวันนี้

เวลา 08:55 น. ผมเตรียมตัวพร้อมแล้วที่จะพาช้างพังทั้ง 2 เชือกไปเล่นน้ำที่แม่น้ำมูลแล้วครับ

ที่ผมบอกว่าช้างพังทั้ง 2 เชือกก็เพราะว่านอกจากเจ้าช้างพังดุกดิ๊กแล้ววันนี้ยังมีเจ้าช้างพังคำคูน ที่จะไปร่วมเล่นน้ำกับเราด้วย

จากบ้านพักเราต้องเดินเท้าไปยังแม่น้ำมูลด้วยระยะทาง 4 กิโลเมตรครับ ผมคิดดูเเล้วว่าผมน่าจะใช้เวลาไป-กลับ ประมาณ 1 ชั่วโมงเห็นจะได้ครับ

ผมใช้เวลา 30 นาทีในการเดินเท้ามาถึงแม่น้ำมูลซึ่งเป็นที่อาบน้ำของช้างพังทั้ง 2 เชือกครับ ไปเล่นน้ำกับช้างกันดีกว่าครับ

เจ้าช้างพังทั้ง 2 เชือกพอได้เล่นน้ำแล้ว มันทั้งสองก็ดูร่าเริงอย่างเห็นได้ชัด ในระหว่างที่ผมกำลังเล่นน้ำกับช้างอยู่นั้น ผมเห็นพวกพี่ๆที่ดูแลผมตั้งแต่เมื่อวานขับรถเข้ามาดูผมทำกิจกรรมอาบน้ำให้ช้างด้วยครับ วันนี้มี พี่สีรา , พี่พร , และพี่ยัน มาดูแลผมครับ

ผมสนุกสนานมากครับ สำหรับการอาบน้ำให้ช้างพังทั้ง 2 เชือกนี้ ผมเล่นน้ำและอาบน้ำให้ช้างสักประมาณเกือบ 1 ชั่วโมง ผมก็เตรียมตัวเดินทางกลับที่พักเพื่ออาบน้ำให้ตัวเองบ้างครับ กลับบ้านกันเถอะ

เวลา 09:45 น. ขากลับผมขอนั่งรถพวกพี่ๆ ที่คอยมาดูแลผมกลับไปยังบ้านพักครับ จะได้รีบกลับไปอาบน้ำและไปทำกิจกรรมอื่นๆที่ยังเหลือของวันนี้ด้วยครับ

เวลา 10:30 น. อาบน้ำแต่งตัวเรียบร้อยแล้ว ได้เวลาออกไปเรียนรู้วิถีชีวิตของชวยกวยกันแล้ว เราเริ่มต้นที่แรกด้วยการดูการทำ “ตะขอบังคับช้าง” ครับ

สำหรับตรงจุดนี้พี่สีราเป็นคนแนะนำและให้ความรู้เกี่ยวกับขั้นตอนการทำตะขอบังคับช้าง

พี่สีราบอกกับผมว่าตะขอ 1 อันสามารถใช้ได้นานเท่านานหรือจนกว่าในส่วนที่เป็นเหล็กจะหัก แต่ปัจจุบันมีการทำในเชิงพานิชย์ เช่น ทำเป็นของที่ระลึกหรือเป็นวัตถุมงคล เพื่อจำหน่ายให้นักท่องเที่ยวและบุคคลที่มีความเชื่อที่จะนำไปบูชาเป็นวัตถุมงคล ผมได้ลองหยิบฉวยทดลองทำแค่เล็กๆ น้อยๆ เนื่องจากมันมันงานฝีมือผมเลยไม่อยากให้มันเกิดความผิดพลาดและเสียน่ะครับ

เสร็จจากจุดที่ 1 แล้วผมขี่รถมอเตอร์ไซค์ต่อมายังที่บ้านพี่จำนงค์ ศาลางาม ซึ่งเป็นบ้านที่ทำงานฝีมือเช่นกันแต่เน้นไปในทางเครื่องประดับ เช่น การทำแหวนจากขนหางช้าง กำไรข้อมือ รวมถึงการทำเชือกปะกำด้วย

เห็นที่เป็นวงๆสีดำนั้นไหมครับ นั่นแหละครับคือแหวนที่ทำมาจากขนปลายหางของช้าง ด้วยวิธีการถักทอสลับกันเป็นเรื่อยๆ จนเกิดเป็นวงและลวดลายขึ้น

ผมก็ต้องขอทดลองทำสักหน่อยแล้ว ฮ่าๆ ตอนแรกที่ทำจับต้นชนปลายไม่ถูกมันก็เลยดูว่าเป็นของยากสำหรับผมไปเลย แต่พอผมเข้าใจขั้นตอนการทำแล้วมันก็พอจะเป็นรูปเป็นร่างอยู่บ้างนะครับ

หลักจากได้ทดลองทำแหวนแล้ว ผมก็เดินไปดูเชือกปะกำที่พี่จำนงค์ได้ทำเอาไว้ที่หลังบ้านครับ

ถึงแม้ปัจจุบันนี้จะไม่มีการอนุญาตให้คล้องช้างแล้วก็ตาม แต่คนในพื้นที่ยังคงต้องรักษาสิ่งเหล่านี้ไว้ให้สืบไปยังรุ่นลูก รุ่นหลาน

เวลา 11:30 น. ผมขี่รถมอเตอร์ไซค์ออกจากบ้านพี่จำนงค์มุ่งหน้าไปยังสุสานช้างกันต่อครับ

สำหรับสุสานช้างนั้นก็เอาไว้เก็บกระดูกช้างที่ตายแล้ว สาเหตุที่ต้องทำสุสานช้างขึ้นมาก็เพราะพี่น้องชาวกวยเชื่อกันว่าช้างเป็นสัตว์ใหญ่ มีบุญคุณต่อชาติบ้านเมือง ดังนั้นจึงควรตอบแทนบุญคุณช้างให้ถึงวันที่ช้างสิ้นลมหายใจ ไม่ปล่อยให้ช้างตายอย่างอนาถ

ขณะที่ผมกำลังเดินเที่ยมชมสุสานช้างอยู่นั้นผมมองไปที่ศาลปะกำที่ตั้งอยู่ด้านหน้าสุสานช้าง ผมเห็นว่ามีหมอช้างกำลังทำพิธีกรรมอะไรสักอย่างหนึ่ง ซึ่งพวกพี่ๆ ที่ดูแลผมเขาบอกว่า “ไม่มีโอกาสเห็นได้บ่อยๆนะที่จะเห็นหมอช้างมานั่งทำพิธีกรรมแบบนี้” ถือว่าผมโชคดีมากที่มีโอกาสได้เห็น พวกพี่ๆ จึงแนะนำให้ผมนำของที่ซื้อมาเช่น แหวนขนหางช้าง , แหวนกระดูกช้าง , ตะขอบังคับช้าง ให้หมอช้างทำพิธีกรรมให้ด้วยเลยครับ

ผมรู้สึกได้ถึงความมีมนต์สเน่ห์และมีมนต์ขลังมากเลยครับ อีกใจหนึ่งผมก็รู้สึกปลาบปลื้มใจที่มีโอกาสได้ทำพิธีกรรมแบบนี้

ถัดจากสุสานช้างก็เป็นสถานที่ทำกระดาษสาจากขี้ช้างและการทอผ้าไหมของพี่น้องชาวกวยครับ

การทำกระดาษสาจากขี้ช้างก็เพื่อเป็นการนำขี้ช้างที่ไร้ประโยชน์มาทำให้เกิดประโยชน์มากที่สุด อีกทั้งยังเป็นการลดมลภาวะที่เกิดจากขี้ช้างด้วยครับ

พอเสร็จจากการดูขั้นตอนการทำกระดาษสาจากขี้ช้างแล้วผมก็เดินไปดูการทอผ้าไหมต่อครับ

ที่นี่สาวไหมเอง ทอกันเอง ด้วยกรรมวิธีแบบโบราณที่ทอกันตั้งแต่อดีตครับ

การทอผ้าไหม 1 ผืนใช้เวลาการทออย่างน้อยๆก็ 1 เดือนครับ และนี่ก็เป็นกิจกรรมสุดท้ายของผมสำหรับวันนี้ก่อนที่จะเดินทางกลับครับ ผมเลยถือโอกาสกล่าวคำร่ำลากลับพวกพี่ๆ กันตรงนี้เลย ก่อนที่ผมจะแยกย้ายกลับไปยังบ้านพักเพื่อเตรียมตัวเดินทางกลับ

เวลา 12:30 น. ผมกลับมายังบ้านพักเพื่อทำการอาบน้ำและเก็บสัมภาระข้าวของเดินทางกลับเข้าตัวเมืองกันต่อครับ ขอตัวไปอาบน้ำและเก็บของก่อนนะครับ

หลังจากที่ผมอาบน้ำเสร็จเก็บข้าวของสัมภาระเสร็จ ผมก็เริ่มหิวขึ้นมาทันทีครับ แต่คิดไว้ว่าจะไปหาอะไรกินระหว่างทางตอนที่ขี่มอเตอร์ไซค์กลับเข้าตัวเมืองดีกว่าครับ

ถึงเวลาต้องบอกลาพ่อทากับแม่อรกันแล้วครับ

มีพบก็ต้องมีจาก สำหรับผมแล้วถึงแม้จะเป็นเพียงแค่ระยะเวลาอันแสนสั้นที่ได้มาอยู่ที่นี่แต่สิ่งที่ผมได้รับนั้นมันยิ่งใหญ่มหาศาลจริงๆครับ ได้อยู่แบบครอบครับ ได้รับบริการเหมือนพี่น้อง และความมีน้ำใจของพี่น้องชาวกวยที่หมู่บ้านคนเลี้ยงช้างบ้านตากลาง ผมกราบอำลาพ่อทา แม่อร และเจ้าดุกดิ๊ก แต่ก่อนจากกันผมได้แลกเบอร์มือถือกับแม่อรเอาไว้ด้วยเผื่อวันไหนเจ้าพังดุกดิ๊กคลอดให้โทรบอกผมด้วยเผื่อมีเวลาจะได้กลับมาเยี่ยมเยียนที่นี่อีกครั้ง

เวลา 13:45 น. ผมขี่รถมอเตอร์ไซค์ออกจากหมู่บ้านคนเลี้ยงช้างบ้านตากลางมุ่งหน้าสู่อำเภอศีขรภูมิเพื่อไปเที่ยวชมปราสาทหินศีขรภูมิ แต่ก่อนที่จะออกเดินทางกันยาวๆ ผมขอหาของกินเพื่อเติมพลังก่อนนะครับ

อาหารง่ายๆ ที่หากินได้ทั่วไปแต่ต้องขอบอกเลยว่ารสชาติไม่ธรรมดาเลยนะครับ

หลังจากอิ่มหนำสำราญกับการกินมื้อกลางวันแล้ว ผมก็ออกเดินทางต่อไปยังจุดหมายปลายทางของผมต่อครับ ระยะทางจากบ้านตากลางไปยังอำเภอศีขรภูมิประมาณ 65-70 กิโลเมตรครับ ไปครับ ตามผมไปเที่ยวปราสาทหินศีขรภูมิด้วยกันครับ

เวลา 16:15 น. ผมเดินทางมาถึงปราสาทหินศีขรภูมิแล้ว เดินไปซื้อตั๋วเพื่อเข้าไปชมด้านในกันดีกว่าครับ

สำหรับราคาตั๋วค่าเข้านั้นอยู่ที่คนละ 10 บาทครับ เข้ามาแล้วก็ต้องอ่านประวัติความเป็นมากันสักหน่อยดีกว่า

ปราสาทหินศีขรภูมิสร้างขึ้นระหว่าง พ.ศ. ๑๕๕๐-พ.ศ. ๑๗๐๐ จากลวดลายที่เสาและทับหลังของปรางค์ประธานและปรางค์บริวารทั้ง ๔ องค์ มีลักษณะปนกันระหว่างศิลปขอมแบบปาปวน และแบบนครวัด สำหรับเป็นศาสนสถานภายใต้ศาสนาฮินดู ลัทธิไศวนิกาย และต่อมาคงมีการดัดแปลงให้เป็นวัดในพุทธศาสนาตามที่มีหลักฐานการบูรณะปฏิสังขรณ์ในราวพุทธศตวรรษที่ ๒๒-๒๓ ในสมัยอยุธยาตอนปลาย“

และนี่ก็เป็นประวัติความเป็นมาคร่าวๆ ที่ผมนำมาฝากครับ

ผมเดินเที่ยวชมบริเวณรอบๆ ปราสาทหินศีขรภูมิ จนถึงเวลาอันสมควรที่จะต้องเดินทางกลับไปยังตัวเมืองแล้ว อีกอย่างฝนฟ้าอากาศก็เริ่มไม่เป็นใจแล้วเหมือนฝนกำลังจะตก

เวลา 17:00 น. ผมเดินทางออกจากปราสาทหินศีขรภูมิรีบมุ่งหน้ากลับก่อนที่ฝนจะตกลงมา ผมขอแว๊นด์มอเตอร์ไซค์ก่อนนะครับ เจอกันที่สถานีขนส่งจังหวัดสุรินทร์ครับ

ระหว่างทางที่ผมขี่มอเตอร์ไซค์กลับนั้น สิ่งที่ผมคิดไว้มันก็เกิดขึ้นจนได้ครับ นั่นก็คือ ฝน ครับ ฝน หนีมันไม่พ้นจนได้ ครั้นจะหลบฝนข้างทางก็ไม่มีบ้านคนเลยมีแต่ต้นไม้ริมทาง จนในที่สุดผมก็เจอร้านค้าริมทางที่สร้างเป็นเพิงอยู่ริมถนนแต่ ณ ตอนนั้นไม่มีคนขายของอยู่ผมจึงจอดรถแล้ววิ่งเข้าไปหลบฝนอยู่ตรงนั้นจนฝนหยุดตกแล้วค่อยเดินทางต่อครับ

เวลา 19:05 น. ผมเดินทางมาถึงร้านมารวยที่ผมได้ทำการเช่ารถมอเตอร์ไซค์ไปเมื่อวานเพื่อนำรถมาคืน จากนั้นผมก็ต้องเดินเท้าจากร้านมารวยไปยังสถานีขนส่งจังหวัดสุรินทร์ซึ่งไกลมากแต่ทำยังไงได้ละครับเมื่อมอเตอร์ไซค์รับจ้างไม่มีก็ต้องเดินกันแบบนี้แหละครับ เอ้า….เดิน

ผมเดินไปเรื่อยๆ แต่ยิ่งเดินมันเหมือนยิ่งไกล ไปไม่ถึงสักที ผมจึงตัดสินใจโบกรถที่สัญจรไป-มาเพื่อขอติดรถไปลงยังสถานีขนส่งจังหวัดสุรินทร์หรือไม่ก็ไปลงจุดที่ใกล้ที่สุดก็ยังดี ผมโบกรถไปเรื่อยพลางก็ถามทางไปด้วย แต่ก็ยังไม่มีใครจอดรถให้ผมติดรถไปด้วยเลย จนในที่สุดโชคก็เข้าข้างผมบ้างแล้ว ผมถามทางรถมอเตอร์ไซค์ที่ติดสัญญาณไฟจราจรอยู่

ผม : พี่ครับ สถานีขนส่งไปทางไหนครับ ?

พี่คนนั้น : เดินตรงไปเลยครับน้อง

ผม : ขอบคุณครับพี่

พี่คนนั้น : น้องจะไปกันยังไงมันไกลนะ

ผม : เดินไปกันครับ (ชวนผมซิๆ)

พี่คนนั้น : มาน้องขึ้นรถเดี๋ยวพี่ไปส่ง

ผม : ไปหมดเหรอครับ ไหนจะกระเป๋าอีก

พี่คนนั้น : ขึ้นมา กระเป๋าพี่ถือเอง แต่น้องขี่นะ

ผม : ขอบคุณครับพี่ (ยิ้มแก้มปริ)

ความมีน้ำใจของพี่คนนี้ทำให้ผมทุ่นเวลาไปได้มากเลยครับ ผมต้องขอขอบคุณพี่มากเลยนะครับ และมีสิ่งหนึ่งที่ทำให้ผมรู้ซึ้งถึงน้ำใจของพี่เขาก็คือ พี่คนที่มาส่งผม(ลืมถามชื่อ) พี่เขาเป็นนักดนตรีเล่นอยู่ที่โรงเบียร์เยอมันตะวันแดงที่สุรินทร์และพี่เขาต้องเข้างานตอน 20:00 น. พอพี่เขาอาสามาส่งผมทำให้พี่เขาไปทำงานสาย ถ้ามีโอกาสกลับไปที่สุรินทร์อีกครั้ง ผมจะเข้านั่งฟังพี่เขาร้องเพลงเพื่อเป็นการตอบแทนในความมีน้ำใจของพี่เขาครับ

เวลา 20:15 น. ผมเดินทางมาถึงสถานีขนส่งจังหวัดสุรินทร์แล้ว ผมมีเวลา 1 ชั่วโมงก่อนที่รถจะออก ผมจึงไปอาบน้ำก่อนเพื่อชำระล้างร่างกายที่ชุ่มไปด้วยเหงื่อ เดี๋ยวจะหลับบนรถไม่สบาย

เวลา 21:35 น. รถทัวร์ที่ผมโดยสารกลับเข้ามาเทียบที่ชานชาลา ขากลับผมเลือกใช้บริการรถทัวร์ของบริษัทนครชัยแอร์ครับ ผมขอตัวพักผ่อนบนรถก่อนนะครับ เจอกันที่กรุงเทพฯ ครับ

วันที่ 28 มิถุนายน 2561

เวลา 03:00 น. ผมเดินทางมาถึงกรุงเทพฯ(รังสิต) จากนั้นผมก็โดยสารรถแท็กซี่ต่อไปยังบ้านพักของผมที่อยู่ย่านสายไหม และนี่ก็ถือว่าดป็นการปิดทริปและเดินทางกลับบ้านโดยสวัสดิภาพครับ

“การเดินทางของผมในครั้งนี้เป็นครั้งหนึ่งที่ผมประทับใจมากที่สุด ผมได้ใช้เวลาตามแบบที่ผมต้องการได้อยู่กับวิถีชีวิตที่ผมรัก สัตว์ที่ผมรัก และคนที่ผมรัก ตอนแรกผมเองยังสับสนว่าตัวเองรักและชอบช้างจริงไหม แต่พอผมได้เจอช้างได้สัมผัส ได้กอด กับช้าง มันทำให้ผมรู้เลยว่าผมรักช้างจริงๆ และการไปที่หมู่บ้านช้างบ้านตากลางผมได้รับการต้อนรับที่ดีจากคนที่นั่นไม่ว่าจะเป็น ครูนิ่ม พี่สีรา พี่พร พี่ดาว พี่จุ๋น พี่จำนงค์ พี่ยัน พ่อทา และแม่อร ผมยินดีที่จะเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยทำให้หมู่บ้านเลี้ยงช้างของพวกพี่ๆ เป็นที่รู้จักนะครับ ขอบคุณอีกครั้งกับสิ่งที่ทุกๆคนมอบให้ผม มันจะคงอยู่ในความทรงจำและในใจผมตลอดไป”

สิ่งที่ต้องเตรียมตัวเตรียมใจไปด้วยในทริปนี้

  • ข้อมูลสำหรับการท่องเที่ยวที่นั่น
  • รักในความเป็นวิถีชาวบ้าน
  • กินง่าย(ผมต้องหัด)
  • อุปกรณ์สำรองไฟ
  • รักช้าง รักคนเลี้ยงช้าง
  • เสื้อผ้าสีเข้มจะได้ไม่เปื้อน
  • ทนกลิ่นขี้ช้างได้
  • เชื่อฟังคำเตือนของควานช้าง
  • อุดหนุนผลิตภัณฑ์จากชาวบ้าน เขาจะได้มีรายได้และจะได้มีกำลังใจ

รูปภาพส่งท้ายในทริปนี้

“แล้วพบกันใหม่ในการเดินทางครั้งต่อไปครับ”

“สวัสดี”

ทัวร์ในประเทศไทย


บทความที่เกี่ยวข้อง