logo
image

icon-travel-2 เที่ยวเจดีย์เยเลพญา และพระมหาธาตุเจดีย์ชเวมอดอ กับน้องปลาดาว

เที่ยวเจดีย์เยเลพญา และพระมหาธาตุเจดีย์ชเวมอดอ กับน้องปลาดาว

พฤศจิกายน 27, 2018
แชร์ :

 เจาะลึกที่เที่ยวพม่ากับน้องปลาดาว

มิงกาละบา…. กลับมาเจอกันอีกแล้วจ้ากับน้องปลาดาว ทริปนี้ปลาดาวจะพาทุกท่านเจาะลึกสถานที่ท่องเที่ยวของเมืองพม่า 2 แห่ง นั่นก็คือ 1.เจดีย์เยเลพญา เมืองสิเรียม 2. พระมหาธาตุเจดีย์ชเวมอดอ เมืองหงสาวดี นั่นเองค่ะ ซึ่งทั้งสองที่นี้มีประวัติและสถาปัตยกรรมที่สวยงาม ได้เวลาเดินทางกันแล้ว งั้นไปพร้อมกับปลาดาวเลยค่ะ

1.เจดีย์เยเลพญา เมืองสิเรียม

เมืองสิเรียมนั้น หากเรามาจากย่างกุ้ง เราจะต้องเดินทางออกมายังเมืองสิเรียม ด้วยระยะทางประมาณ 45 กิโลเมตร ใช้เวลาในการเดินทางประมาณ 1 ชั่วโมง เนื่องจากสภาพถนนที่ยังไม่ค่อยพัฒนาสักเท่าไร เป็นหลุมเป็นบ่อพอสมควร ระหว่างทาง เราก็จะได้เห็นชีวิตชาวบ้านแถบชานเมืองในแบบเรียบง่าย แต่ก่อน เมืองสิเรียม ในอดีตเป็นเมืองท่าสำคัญในเขตย่างกุ้ง ตั้งอยู่ปากแม่น้ำอิระวดี ได้รับอิทธิพลมาจากยุคอาณานิคมของอังกฤษ เดินทางมาถึงท่าเรือกันแล้วค่ะ มองเห็นเจดีย์กลางน้ำเยเลพญาอยู่เบื้องหน้า

เรือที่เราใช้ในการข้ามไปยังเจดีย์เยเลพญาเป็นแบบนี้ค่ะ

เจดีย์เยเลพญา หรือ เจดีย์กลางน้ำ ตั้งอยู่บนเกาะเล็ก ๆ กลางน้ำ การเดินทางจะต้องลงเรือไปอย่างเดียว ไม่มีสะพานให้รถหรือคนเดินข้ามไปได้ ตามตำนานเล่าว่า เจดีย์แห่งนี้สร้างในสมัยมอญเรืองอำนาจ เมื่อราวพันกว่าปีก่อน โดยมีคหบดีชาวมอญเป็นผู้สร้าง ตั้งจิตอธิษฐานไว้ ๓ ข้อ คือ

  1. ถ้าน้ำท่วม ก็อย่าให้ท่วมถึงองค์พระเจดีย์
  2. ถ้ามีผู้คนมากราบไหว้บูชาเป็นจำนวนมากเพียงใด ขอให้พื้นที่ไม่มีวันเต็ม รองรับผู้คนจำนวนมากเท่าใดได้ตลอดเวลา
  3. เมื่อมาอธิษฐานขออะไรที่สมเหตุสมผล ก็ขอให้ได้สมความปรารถนาทุกคน

เจดีย์องค์ประธาน ภายในเป็นที่ประดิษฐานพระเกศาธาตุของพระพุทธเจ้า เมื่อเข้ามาภายในบริเวณบนเกาะแล้ว เราก็มากราบพระขอพรกันก่อนค่ะ เป็นพระพุทธรูปหยกขาวทรงเครื่องตามแบบฉบับพม่า ประกอบขึ้นมาจากหยกขาว 5 ชิ้น ส่วนศีรษะ มือทั้ง 2 ข้าง และเท้าทั้ง 2 ข้าง สวยงามอย่างมากค่ะ

กราบพระเรียบร้อยแล้ว เราเดินออกมาทางด้านขวาเพื่อไปไหว้พระอุปคุต

พระอุปคุต น่าจะถือกำเนิดมาภายหลังจากที่พระพุทธเจ้าปรินิพพานแล้ว ประมาณ พ.ศ. ๒๑๘ เป็นชาวเมืองปาฏลีบุตร บวชตั้งแต่เป็นเด็ก สำเร็จอรหันต์ มีอภิญญาต่าง ๆ มากมาย แต่มีปฏิปทาไปในทางสันโดษ มักน้อย ว่ากันว่าท่านเนรมิตกุฏิแก้วขึ้นในสะดือทะเล แล้วลงไปอยู่ที่นั่น จะออกจากสมาบัติ เหาะขึ้นมาบิณฑบาต ในโลกมนุษย์ ในวันพุธเพ็ญเท่านั้น แต่เมื่อมีเหตุเภทภัยในพระพุทธศาสนา หรือมีพิธีกรรมใหญ่ ๆ มีผู้นิมนต์ ท่านก็จะขึ้นมาช่วยเหลือ ด้วยเมตตาสูงเป็นอย่างยิ่ง

ต่อมาเมื่อพระเจ้าอโศกมหาราชได้สร้างพระวิหารได้ครบ ๘๔,๐๐๐ วิหาร และได้รวบรวมพระบรมสารีริกธาตุเพื่อนำไปบรรจุลงในสถูปที่พระองค์ทรงสร้างไว้ทุกแห่งเรียบร้อยแล้ว พระองค์ต้องการจัดให้มีการฉลองสมโภชพระสถูปเจดีย์ทั้งหมด และต้องการให้มีพระอรหันต์มาเป็นผู้คุ้มครองดูแลงานให้ปราศจากการรบกวนจากมารร้ายต่าง ๆ แต่พระสงฆ์ในนครปาฏลีบุตร ไม่มีรูปใดที่มีความสามารถอย่างนั้น กล่าวว่ามีแต่พระอุปคุตเท่านั้นที่จะทำการนี้ได้ จึงได้จัดพระสงฆ์ลงไปนิมนต์ พญามารได้เข้ามาขัดขวางงาน มีทั้งแปลงร่างเป็นสัตว์ป่าที่ดุร้ายบ้าง แต่ทุกครั้งพระอุปคุตก็สามารถกำราบได้ สุดท้ายพระอุปคุตจึงได้เนรมิตหมาเน่าตัวหนึ่ง แล้วเอาผ้าประคตของท่านผูกร่างหมาเน่านั้นคล้องคอพญามารไว้ พญามารพยายามแกะหมาเน่าออกจากคอทีไร ต้องเกิดไฟลุกขึ้นไหม้คอและมือทุกทีไป หาใครช่วยก็ไม่สามารถช่วยได้ แม้แต่ท้าวมหาราชทั้ง ๔ (พระอินทร์ ท้าวยามา ท้าวสันดุสิต ท้าวนิมิตเทวราช) รวมทั้งท้าวสหัมบดีพรหมก็ไม่สามารถช่วยได้ ต่างแนะนำให้ไปขอขมาต่อพระอุปคุต พญามารจึงจำใจกลับไปขอขมา อ้อนวอนให้ช่วยเอาหมาเน่าออกจากคอให้ และสัญญาว่าจะไม่มารบกวนอีกต่อไป พระอุปคุตเกรงว่าพญามารจะกลับคำภายหลัง จึงนำพญามารไปที่เขาลูกหนึ่ง เนรมิตให้สายประคตนั้นยาวลงไปถึงก้นเหว เอาหมาเน่าที่ผูกอยุ่กับผ้าประคตทิ้งลงไปยังก้นเหว ผูกพญามารนั้นไว้กับเขาลูกนั้น พร้อมกับกำชับว่า เมื่องานสมโภชสิ้นสุดเมื่อใด จะมาปล่อยพญามารให้เป็นอิสระ ซึ่งระยะเวลาในการสมโภชนั้นยาวนานถึง ๗ ปี ๗ เดือน ๗ วัน เมื่องานสำเร็จพระอุปคุตก็กลับมาปล่อยพญามารตามที่สัญญาไว้

พระอุปคุต หรือ พระบัวเข็ม เป็นพระที่เป็นที่นิยมของชาวอินเดีย มอญ คนไทยทางภาคเหนือและอีสาน ปัจจุบันยังมีความเชื่อในหมู่ชาวล้านนาว่า พระอุปคุตยังมีชีวิตอยู่ ในทุกวันขึ้น ๑๕ ค่ำที่ตรงกับวันพุธ ท่านจะออกจากนิโรธสมาบัติ ขึ้นมาบิณฑบาตในร่างของเณรน้อย และจะออกมาในเวลาเที่ยงคืน ด้วยเหตุนี้จึงเกิดประเพณีตักบาตรกลางคืนขึ้น

เดินออกจากพระอุปคุต เราก็จะเจอกับพระพุทธรูปทางด้านข้าง เป็นอีก 1 ศาลาภายในบริเวณเจดีย์นี้ ด้านในประดิษฐานพระพุทธรูปทรงเครื่องและยังมีพระแก้วมรกตประดิษฐานอยู่ที่นี่ด้วย ภายในศาลาแห่งนี้มีปริศนาของพระพุทธเจ้าอยู่ 16 ประการ ที่ทำนายถึงอนาคตเบื้องหน้า

ออกจากศาลาแห่งนี้แล้ว เดินออกมาทางด้านข้าง เราก็จะพบกับเทพทั้ง 4 องค์ เราสามารถขอพรและเสี่ยงทายได้ โดยจะมีก้อนหินวางไว้ตรงหน้า วิธีการเสี่ยงทาย คือ ให้เราอธิฐานจากนั้นให้ยกก้อนหิน ครั้งแรกให้หนัก ครั้งที่สองให้เบา หากสิ่งที่เราขอสำเร็จก็จะสามารถยกหินให้มีน้ำหนักตามที่เราขอพรไปได้ โดยมีเทพทั้ง 4 องค์เป็นพยานให้กับเรา

ออกมาทางด้านข้างเทพทั้งสี่ก็จะเจอศาลา ด้านในมีพระพุทธรูปประดิษฐานอยู่เช่นกัน

ไหว้พระขอพรเต็มอิ่มกับเจดีย์เยเลพญาแล้ว เราจะเดินทางไปต่อกันที่เมืองหงสาวดี เพื่อนมัสการ พระมหาธาตุเจดีย์ชเวมอดอ 1 ใน 5 สิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองของพม่ากันค่ะ

2. พระมหาธาตุเจดีย์ชเวมอดอ เมืองหงสาวดี

เราเดินทางออกจากเมืองย่างกุ้ง มุ่งหน้าสู่เมืองหงสาวดี ด้วยระยะทางประมาณ 80 กิโลเมตร ใช้เวลาในการเดินทางประมาณ 2 ชั่วโมงก็มาถึงหงสาวดีกันแล้วค่ะ เมืองหงสาวดีจะมีสัญลักษณ์ที่โดดเด่นตลอดเส้นทางก็คือ เป็นรูปหงส์คู่ มีตำนานเล่าว่า พระพุทธเจ้าเสด็จมาถึงเมืองหงสาวดีที่สมัยก่อนยังคงเป็นชายหาดริมทะเล พระพุทธเจ้าทรงเห็น หงส์สองตัวว่ายน้ำเล่นกัน จึงทำนายออกมาว่าภายหลังจะเป็นเมืองที่เจริญรุ่งเรือง ชาวหงสาวดีจึงถือเอาตำนานเรื่องนี้มาเป็นสัตว์สัญลักษณ์ นอกจากนี้ ตำนานยังกล่าวว่า หงส์คู่นั้น ตัวเมียขี่ตัวผู้ จึงมีคำทำนายว่าต่อไปผู้หญิงจะเป็นใหญ่ ซึ่งผู้หญิงคนนั้นคือ พระนางเชงสอบู (ตะละแม่ท้าว) นั่นเอง

มาถึงหงสาวดีแล้ว หากไม่ได้มานมัสการพระมหาธาตุเจดีย์ชเวมอดอ ซึ่งตั้งเด่นเป็นสง่าอยู่กลางเมืองนั้น นับว่ามาไม่ถึงหงสาวดีนะคะ

เจดีย์ชเวมอดอร์ (พระธาตุมุเตา) ตั้งอยู่กลางเมืองหงสาวดี มหาพระเจดีย์องค์มีความโดดเด่นในหลายๆด้าน เป็นพระธาตุเจดีย์สูงที่สุดของพม่า และมีความเก่าแก่ราวกว่า 2,000 ปี ภายในบรรจุพระเกศาธาตุของพระพุทธเจ้า เจดีย์แห่งนี้จึงเรื่องชื่อและชาวพม่าให้ความเคารพนับถือ เพราะเป็นเจดีย์ 1 ใน 5 ของเจดีย์ชื่อดังและมีความยิ่งใหญ่ที่สุดในพม่า ผู้คนจึงแวะเวียนไปสักการบูชาอย่างไม่ขาดสาย

นอกจากนี้องค์มหาเจดีย์ชเวมอดอร์ (พระธาตุมุเตา) ยังเคยพังทลายจากแผ่นดินไหวครั้งใหญ่มาแล้วถึง 4 ครั้ง โดยแผ่นดินไหวครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 5 ก.ค. พ.ศ. 2473 จึงทำให้ปลียอดของเจดีย์ชเวมอดอร์องค์นี้หักพังลงมา แต่ด้วยความเคารพและศรัทธาที่ชาวเมืองหงสาวดีมีต่อเจดีย์ชเวมอดอร์องค์นี้ พวกเขาจึงได้ทำการสร้างมหาเจดีย์ชเวมอดอร์ (พระธาตุมุเตา) ขึ้นมาใหม่อีกครั้งในปีพ.ศ.2497 ด้วยความสูงถึง 374 ฟุต ส่วนปลียอดที่พังลงมาก็ได้ตั้งไหว้ที่มุมหนึ่งขององค์เจดีย์เพื่อให้พุทธศาสนิกชนได้กราบไหว้บูชาควบคู่ไปกับเจดีย์องค์ปัจจุบัน

เจดีย์ชเวมอดอร์(พระธาตุมุเตา) มีความโดดเด่น คือ เป็นเจดีย์ที่มีลักษณะแบบมอญ มีฉัตรแบบเรียบๆและมีองค์ระฆังของเจดีย์มีลักษณะแคบเรียว ภายนอกหุ้มด้วยทองจังโก้ ภายในเป็นอิฐกลวง แตกต่างจากเจดีย์ชเวดากองที่เป็นเจดีย์แบบพม่า(อย่างชัดเจน) ในส่วนบริเวณรอบๆองค์เจดีย์ก็มีพระพุทธรูปหลายองค์ให้กราบไหว้ ซึ่งมีลักษณะศีลปะของมอญผสมกับศิลปะของพม่ามีความสวยงามดูแปลกตา มีอาคารตกแต่งด้วยสถาปัตยกรรมของพม่าผสมตะวันตกให้ดู นอกจากนี้ที่ด้านหนึ่งของเจดีย์ยังมีพิพิธภัณฑ์เล็กๆเก็บโบราณวัตถุต่างๆให้ชม ครั้นตั้งแต่สมัยเก่าก่อน

ปัจจุบันพระธาตุมุเตาได้กลายเป็น 1 ใน 5 สิ่งศักดิ์สิทธิ์ของพม่าที่มีผู้คนทั้งคนพม่าและคนไทยได้ไปกราบไหว้กันอย่างไม่ขาดสาย เพื่อเป็นสิ่งยึดเหนี่ยวทางจิตใจได้เป็นอย่างดีด้วยปัจจุบันที่ประเทศกำลังเป็นแบบนี้เลยทำให้คนไทยส่วนใหญ่อยากที่จะเดินทางไปพม่ากันอย่างมากมาย และเชื่อแน่ๆว่าหากเราเดินทางไปพม่านอกจากจะได้เห็นในส่วนของความสวยงามขององค์พระธาตุแล้วยังได้เห็นความสวยงามทางด้านจิตใจของคนพม่าอีกด้วยเพราะคนพม่าส่วนใหญ่แล้วยามว่างจากการทำงานเค้าก็จะไปนั่งสมาธิยังวัดต่างๆ ซึ่งเป็นสิ่งหนึ่งที่ตัวคนเดินทางเองเห็นแล้วอดทีจะประทับใจไม่ได้ เพราะหากเป็นเมืองไทยเองคนที่จะเข้าวัดนั่งสมาธินั้นต้องเป็นคนแก่วัยเกษียณ แต่ในทางกลับกันที่พม่าเรากลับมองเห็นทั้งวัยรุ่นและวัยผู้ใหญ่นั่งสมาธิกันอยู่ทุกมุมที่สงบภายในวัด

นอกจากองค์เจดีย์แล้วนั้น บริเวณรอบวัดก็ยังมีศาลาฟังธรรมขนาบทั้งสองข้าง ในช่วงเวลาวันพระ จะมีพุทธศาสนิกชนเข้ามาฟังเทศก์กันเป็นจำนวนมาก และโดยรอบจะมีต้นไม้ใหญ่ที่ให้ร่มเงาอยู่รอบวัด จึงทำให้ที่นี่มีผู้คนทั้งชาวพม่าและชาวต่างชาติมากันอย่างไม่ขาดสาย

จบไปอีก 1 ทริปแบบเจาะลึก 2 สถานที่ท่องเที่ยวที่โดดเด่นของประเทศพม่ากันแล้ว วันนี้ปลาดาวต้องลาไปก่อนแล้ว…..แล้วเจอกันคอลัมน์หน้าค่ะ

^^ ปลาดาวลั้นลา ^^

ทัวร์พม่า


บทความที่เกี่ยวข้อง