logo
image

icon-travel-2 มัณฑะเลย์-มิงกุน 3วัน2คืน 3-5 ธันวาคม2559

มัณฑะเลย์-มิงกุน 3วัน2คืน 3-5 ธันวาคม2559

พฤศจิกายน 29, 2019
แชร์ :

สวัสดีครับ ทุกๆคน ในช่วงวันหยุดยาวที่ผ่านมา โอ๊ดมีโอกาสได้เดินทางไปประเทศเมียนมาร์ หรือ พม่ากับโปรแกรม มัณฑะเลย์ – มิงกุน 3 วัน 2 คืน ในวันที่ 3 – 5 ธันวาคม 2559 ไปย้อนรอยเพื่อชมอดีตเมืองที่เคยเป็นราชธานีเก่าของราชวงศ์สุดท้ายของพม่า ก่อนที่ระบอบกษัตริย์จะถูกโค่นล้มลงและตกเป็นเมืองขึ้นของประเทศอังกฤษอย่าง “เมืองมัณฑะเลย์” เมืองที่มีขนาดใหญ่และมีความสำคัญไม่แพ้ อดีตเมืองหลวงอย่าง ย่างกุ้ง และ เมืองหลวงแห่งใหม่อย่าง เนปิดอร์ เลยทีเดียว…ในทริปนี้เราจะเดินทางโดยสายการบินแห่งชาติของเมียนมาร์ นั่นก็คือ Myanmar Airways International นั่นเอง….

ในวันแรกของการเดินทางคณะของเราพบกันที่สนามบินสุวรรณภูมิ ชั้น 4 ประตู 7 เคาน์เตอร์ N นะครับ หลังจาก Check – in โหลดกระเป๋ารับ Boarding pass เรียบร้อยแล้วเราก็เข้ามานั่งรอที่ Gate กันนะครับ นั่งรอสักพักเครื่องบินก็เข้ามาจอด จากนั้นไม่นานก็ได้ยินเสียงประกาศเรียกขึ้นเครื่องนะครับ Flight 8M 338 ใช้เวลาในการบินประมาณ1.30ชม.นะครับ…

…นั่งไปได้สักพักแอร์โฮสเตสก็นำอาหารมาบริการนะครับวันนี้มีข้าวหน้าไก่ผัดซอสเปรี้ยวหวานด้วยนะครับ รสชาตอร่อยถูกปากเลยทีเดียว(หรือเราหิว?)พออิ่มปุ๊บก็หลับปั๊บ สักพักก็ได้ยินเสียงประกาศจากกัปตันว่า Cabin crew prepare for landing อ้าวจะถึงแล้วหรอเนี๊ย555+

…หลังจากผ่านตม. รับกระเป๋าเรียบร้อยเราก็มุ่งหน้าสู่ตัวเมืองมัณฑะเลย์กันเลย อ่อ!!ลืมบอกไปนะครับ เวลาที่นี่จะช้ากว่าเวลาที่ประเทศไทยประมาณ ครึ่งชั่วโมงนะครับ อย่าลืมปรับหน้าปัดนาฬิกากันด้วยนะครับบ…

…สถานที่แรกที่เราจะไปกันนั่นก็คงไม่พ้นจุดชมประอาทิตย์ตกที่สวยที่สุดแห่งเมืองมัณฑะเลย์ อย่าง “ยอดเขามัณฑะเลย์” หรือ MANDALAY HILL นั่นเอง พอขึ้นมาถึงก็ไม่แปลกใจเลยว่าทำไมถึงได้รับการขนานนามว่าเป็นจุดชมพระอาทิตย์ตกดินที่สวยที่สุด เนื่องจากเราสามารถมองวิวได้ไกลสุดลูกหูลูกตา กว้าง360 องศาเลยทีเดียวกลับโรงแรมไปรับรองว่านอนหลับฝันดีอย่างแน่นอนครับ..

…เช้าวันที่สองของการเดินทางสถานที่แรกที่เราจะไปนั่นก็คือ วัดกุโสดอร์ ที่นี่เป็นอนุสรณ์แห่งการสังคายนาพระไตรปิฎกครั้งที่ 4 ครับ สร้างขึ้นโดยพระเจ้ามินดง ในสมัยที่อาณาจักรมัณฑะเลย์อยู่ในยุครุ่งเรืองทางด้านพระพุทธศาสนา พระองค์ทรงให้จารึกพระไตรปิฎก 84,000 พระธรรมขันธ์ ลงบนหินอ่อน 729 แผ่น ถือเป็นพระไตรปิฎกเล่มใหญ่ที่สุดในโลกอีกด้วย และถือเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่มีการบันทึกพระไตรปิฎกเป็นภาษาบาลี และได้นำมาประดิษฐานในมณฑป ที่เรียงรายอยู่โดยรอบ “พระเจดีย์มหาโลกมารชิน” มีความสูง 30 เมตร ซึ่งจำลองรูปแบบมาจากพระมหาเจดีย์ชเวสิกองแห่งเมืองพุกามนั่นเองครับ…

…ด้านหน้าทางเข้าวัดเราสามารถเลือกซื้อดอกไม้เพื่อนำเข้าไปนมัสการพระพุทธรูปด้านในได้ด้วยนะครับ…

…แบบจำลองแผนผังการจัดวางเจดีย์โดยรอบของ วัดกุโสดอร์ ….

…ตรงทางเข้าวัดจะมีรูปปั้นของพระเจ้ามินดง ที่สร้างไว้เพื่อเป็นเกียรติแห่งการสังคายนาพระไตรปิฎกครั้งที่ 4 นั่นเอง…

…ไม่ไกลจากวัดกุโสดอร์ เราแวะชมความวิจิตรบรรจงของช่างฝีมือในสมัยนั้นกันต่อที่วิหารไม้สักชเวนานจอง สำหรับวิหารนี้เป็นวิหารที่สร้างด้วยไม้สักทองทั้งหลัง โดยพระเจ้ามินดงทรงโปรดที่จะนั่งสมาธิ ปฎิบัติธรรมที่วิหารแห่งนี้ หลังจากที่พระเจ้ามินดงได้เสด็จสวรรคตลง พระเจ้าสีปอจึงให้เหล่าทหารถอดย้ายวิหารองค์นี้มาถวายเพื่อเป็นพระราชกุศลให้กับพ่อที่ วัดชเวนันดอร์ และโชคดีที่ วิหารไม้สักชเวนานจอง ไม่ได้อยู่ในเขตพระราชฐานในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 จึงทำให้รอดพ้นจากการถูกเผาทำลาย เนื่องจากทหารญี่ปุ่นยึดพระราชวังมัณฑะเลย์เป็นค่ายทหารและถูกฝ่ายสัมพันธมิตรทิ้งระเบิดทำลายพระราชวังจนราบคาบ วิหารไม้สักชเวนานจองจึงนับเป็นสิ่งก่อสร้างชิ้นสุดท้าย ของพระราชวังมัณฑะเลย์ที่ยังคงหลงเหลือให้เห็นถึงสถาปัตยกรรมอันเป็นเอกลักษณ์ของสกุลช่างมัณฑะเลย์ ที่สมบูรณ์ที่สุดในปัจจุบันนั่นเอง…

…หลังจากที่เราได้ชมสถาปัตยกรรมของจริงที่ยังคงหลงเหลือให้เห็นจากอดีตเรียบร้อยแล้ว เราก็ไปดูกันต่อที่ พระราชวังมัณฑะเลย์ ที่ทางรัฐบาลพม่ามีนโยบายให้สร้างพระราชวังแห่งนี้ขึ้นในสถานที่เดิมโดยการจำลองจากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่หลงเหลืออยู่ในอดีต เพื่อเป็นสถานที่ท่องเที่ยวให้กับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติและเป็นเครื่องเตือนให้เห็นถึงผลเสียของการทำสงครามนั่นเอง…

…ตามประวัติพระราชวังมัณฑะเลย์ ถูกก่อสร้างขึ้นมาโดยพระเจ้ามินดง หลังการย้ายเมืองหลวงจาก อมระปุระ มายัง มัณฑะเลย์ ตามความเชื่อเล่าว่าเป็นพระราชวังที่สร้างด้วยไม้สักทั้งหลัง(ซึ่งก็ดูเหมือนจะจริงเนื่องจากวิหารที่เราเพิ่งไปมาเมื่อสักครู่เคยตั้งอยู่ในเขตของพระราชวังเก่ามาก่อน) สมกับที่ได้ชื่อว่ามีความงดงามมากที่สุดแห่งหนึ่งในทวีปเอเชียเลยก็ว่าได้ มีคูน้ำรอบพระราชวังยาวถึงด้านละ2 ไมล์และประตูที่ยิ่งใหญ่ และเป็นพระราชวังแห่งสุดท้ายของพระเจ้าสีปอ กษัตริย์องค์สุดท้ายแห่งราชวงศ์อีกด้วย…

…จากนั้นเดินทางต่อไปยังเขต อมรปุระ ร่วมทำบุญใส่บาตรที่ วัดมหากันดายง ซึ่งตั้งอยู่ริมทะเลสาบตองตะมาน ใกล้สะพานอูเบ็ง และเป็นวิทยาลัยสงฆ์ที่ใหญ่ที่สุดของพม่า มีภิกษุและสามเณรมาศึกษาเล่าเรียนทางธรรมกว่า 1,200 รูป และมีพระภิกษุจาก ยุโรป อเมริกา ญี่ปุ่น ฯลฯ มาบวชเรียนด้วย วิทยาลัยสงฆ์แห่งนี้เป็นสถานที่ศึกษาพระธรรมและรักษาพระธรรมวินัยมากที่สุด ด้วยวัตรปฏิบัติพระวินัยอย่างเคร่งครัดของภิกษุสงฆ์ในวัดมหากันดายง ทำให้มีชาวพม่าจำนวนมากส่งบุตรหลานมาศึกษาพุทธศาสนากันที่นี่ และทำให้มีผู้มีจิตศรัทธาจองคิวกันนำภัตตาหารมาถวายพระทั้ง 1,200 รูปไม่เว้นแต่ละวัน ทำให้วิทยาลัยสงฆ์แห่งนี้ดำรงค์อยู่ได้แม้จะได้รับงบประมาณจากรัฐบาลพม่าไม่มากนัก…

…ต่อจากนั้นชม สะพานไม้อูเบ็ง ที่มีความยาว 1,200 เมตรเป็นสะพานไม้ที่ยาวที่สุดในโลกโดยเสาไม้สักเก่ามาสร้าง จำนวนพันกว่าต้น สะพานไม้อูเบ็งเป็นสะพานไม้สักที่ยาวที่สุดในโลก ที่ตั้งอยู่ทางใต้ของเมืองอมรปุระราชธานี แห่งพม่า และยังเป็นสะพานไม้สัก ที่มีอายุหลายร้อยปีซึ่งไม้สักเหล่านี้ เคยเป็นหนึ่งส่วนประกอบสำคัญหลายๆอย่างเป็นพระราชวังเก่าแห่งกรุงอังวะ ในปัจจุบันไม้สักเหล่านั้น ถูกแปรสภาพ กลายเป็นสะพาน ที่เชื่อมความสุขทอดยาวถึง 2 กิโลเมตร และเสาค้ำยันกว่า 1,208 ต้นเลยทีเดียว…

…จากนั้นเราเดินทางออกไปยังเมืองมิงกุน โดยการล่องเรือผ่านแม่น้ำอิระวดีสู่มิงกุน แม่น้ำอิรวดี ซึ่งชาวพม่าเรียกว่า “เอยาวดี” แปลว่า “มหานที” นั้นถือว่าเป็นแม่น้ำสายสำคัญที่สุดสายหนึ่งของพม่าเลยทีเดียว เรือที่เรานั่งจะเป็นเรือ 2 ชั้น ด้านบนมีเปลให้นอนตากลม ชมวิวกันแบบ360 องศาเลยทีเดียว โดยที่เราจะใช้เวลาในการล่องเรือขาไปประมาณ 45นาที – 1 ชั่วโมง และขากลับก็เช่นกัน…

…หลังจากล่องเรือมาถึงฝั่ง สถานที่แรกที่เราจะไปชมกันนั่นก็คือ เจดีย์มิงกุน ชมซากเจดีย์ขนาดใหญ่ที่สร้างไม่เสร็จ มีสิงห์คู่ประดับอยู่ด้านหน้า ร่องรอยแห่งความทะเยอทะยานของพระเจ้าปดุง ด้วยความที่สามารถชะลอพระมหามัยมุนีมาประดิษฐานที่มัณฑะเลย์เป็นผลสำเร็จจึงทรงฮึกเหิมที่จะกระทำการใหญ่ขึ้นและยากขึ้น หวังให้ยิ่งใหญ่เทียบเท่ามหาเจดีย์ในสมัยพุกาม และใหญ่โตโอฬารยิ่งกว่าพระปฐมเจดีย์ในสยาม ซึ่งในเวลานั้นถือเป็นเจดีย์ที่สูงที่สุดในสุวรรณภูมิ อย่างไรก็ตาม งานก่อสร้างเจดีย์มิงกุนดำเนินไปได้เพียง 7 ปี พระเจ้าปดุงเสด็จสวรรคต ภายหลังทรงพ่ายแพ้ไทยในสงครามเก้าทัพ มหาเจดีย์ของพระองค์จึงปรากฏเพียงแค่ฐาน ส่วนรอยแตกร้าวตรงกลางฐานเกิดจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวในปี พ.ศ.2381 นั่นเอง…

…แบบจำลองเจดีย์มิงกุนถ้าสร้างสำเร็จ…

จากนั้นชมความยิ่งใหญ่ของ ระฆังมิงกุน ซึ่งตั้งอยู่ไม่ไกลจากฐานเจดีย์มิงกุน ที่พระเจ้าปดุงโปรดฯให้สร้างโดยสำเร็จ เพื่ออุทิศถวายแด่มหาเจดีย์มิงกุน จึงต้องมีขนาดใหญ่คู่ควรกัน คือเป็นระฆังยักษ์ที่มีเส้นรอบวงถึง 10 เมตร สูง 3.70 เมตร น้ำหนัก 90 ตัน เล่ากันว่า พระเจ้าปดุงทรงไม่ต้องการให้มีใครสร้างระฆังเลียนแบบ จึงรับสั่งให้ประหารชีวิตนายช่างทันทีที่สร้างเสร็จ ปัจจุบันถือเป็นระฆังยักษ์ที่มีขนาดเล็กกว่าระฆังแห่งพระราชวังเครมลินในกรุงมอสโกเพียงใบเดียวแต่ว่าระฆังเครมลินมีการแตกร้าวไปแล้ว ชาวพม่าจึงภาคภูมิใจว่าระฆังมิงกุนเป็นระฆังยักษ์ที่ยังคงส่งเสียงก้องกังวานที่ใหญ่ที่สุดในโลกอีกด้วย…

…จากนั้นอีกไม่ไกลชมอีกหนึ่งความสวยงามของเมืองมิงกุนนั่นก็คือ เจดีย์พญาเธียรดาน หรือ เจดีย์ชินพิวเม (เมี๊ยะเต็งดาน)สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2359 โดยพระเจ้าบากะยีดอว์ พระราชนัดดาของพระเจ้าปดุง เพื่อเป็นอนุสรณ์แห่งความรักต่อพระมหาเทวีชินพิวเม ซึ่งถึงแก่กรรมก่อนเวลาอันควร และได้รับสมญานามว่า “ทัชมาฮาล แห่งลุ่มน้ำเอยาวดี”เจดีย์องค์นี้เป็นพุทธศิลป์ที่สร้างขึ้นด้วยหลักภูมิจักรวาล คือ มีองค์พระเจดีย์อยู่ตรงกลาง ณ ยอดเขาพระสุเมรุ ที่เชื่อกันว่าเป็นแกนกลางของจักรวาล ล้อมรอบด้วยขุนเขาและมหานทีสี่พันดอนตามหลักไตรภูมิอีกด้วย…

…จากด้านบนของ เจดีย์พญาเธียรดาน เราสามารถชมความยิ่งใหญ่ของเจดีย์มิงกุนได้อย่างเต็มตาอีกด้วย…

…เช้าวันที่สามของการเดินทางเราจะต้องตื่นกันตั้งแต่เช้าตรู่สักนิดนะครับ เนื่องจากเช้าวันนี้เราจะเดินทางไปนมัสการ พระมหามัยมุนี อันเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์สูงสุด 1 ใน 5 แห่งของพม่า ถือเป็นต้นแบบพระพุทธรูปทองคำขนาดใหญ่ทรงเครื่องกษัตริย์ที่ได้รับการขนานนามว่า “พระพุทธรูปทองคำเนื้อนิ่ม” ที่พระเจ้ากรุงยะไข่ทรงหล่อขึ้นที่เมืองธรรมวดี เมื่อปี พ.ศ.689 สูง 12 ฟุต 7 นิ้ว หุ้มด้วยทองคำเปลวหนา 2 นิ้ว ทรงเครื่องประดับทองปางมารวิชัย หน้าตักกว้าง 9 ฟุต ในปี พ.ศ. 2327 พระเจ้าปดุงได้สร้างวัดมหามุนี หรือวัดยะไข่ (วัดอาระกัน หรือวัดพยาจี) เพื่อประดิษฐานพระมหามัยมุนี และในปี พ.ศ. 2422 สมัยพระเจ้า สีปอ ก่อนจะเสียเมืองพม่าให้อังกฤษได้เกิดไฟไหม้วัดทองคำ จึงทำให้ทองคำเปลวที่ปิดพระละลายเก็บเนื้อทองได้น้ำหนักถึง 700 บาท ต่อมาในปี พ.ศ. 2426 ชาวพม่าได้เรี่ยไรเงินเพื่อบูรณะวัดขึ้นใหม่มาขนาดใหญ่ว่าเดิม โดยสายการออกแบบของช่างชาวอิตาลี จึงนับได้ว่าเป็นวัดที่สร้างใหม่ที่สุดแต่ประดิษฐานพระพุทธรูปเก่าแก่ที่สุดในเมืองพม่า โดยรอบ ๆ ระเบียงเจดีย์ยังมีโบราณวัตถุ ที่นำไปจากกรุงศรีอยุธยาเมื่อครั้งกรุงแตกครั้งที่ 1 พร้อมทั้งร่วมพิธีการอันสำคัญล้างพระพักตร์ถือเป็นการสักการะเพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ชีวิตนั่นเอง…

ทัวร์พม่า


บทความที่เกี่ยวข้อง